วันพฤหัสบดีที่ 15 เมษายน พ.ศ. 2553

อภิปรายผลการวิจัย

อภิปรายผลการวิจัย

1. ผลการศึกษาเจตคติในการคบเพื่อนต่างเพศของนักเรียนมัธยมศึกษา พบว่า เจตคติในการคบเพื่อนต่างเพศของนักเรียนมัธยมศึกษาทั้ง 3 ด้าน คือ ด้านความคิด ด้านความรู้สึก และด้านแนวโน้มในการแสดงพฤติกรรม อยู่ในระดับปานกลาง มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 2.60 ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการปรับตัวทางสังคมด้านเพศสัมพันธ์ของวัยรุ่น ที่ออกนอกกรอบจารีตประเพณีไทยมากขึ้น และถือเป็นเรื่องปกติที่จะประพฤติปฏิบัติ เพราะวันรุ่นเป็นวัยที่ต้องการความสนใจจากเพศตรงข้ามอันเป็นสัญชาตญาณทางเพศอย่างหนึ่ง โดยแท้จริงแล้วสัญชาตญาณทางเพศ มิได้ หมายถึง ความต้องการทางเพศแต่อย่างเดียวเท่านั้น การต้องการความสนใจ การวางตัว ความรักจากเพศตรงข้ามก็เป็นส่วนหนึ่ง(วันทนีย์ วาสิกะสิน. 2526) นอกจากนี้วัฒนธรรมตะวันตกที่เข้ามาในประเทศไทย จากสื่อต่าง ๆ เช่น อินเตอร์เน็ต ภาพยนตร์ ข่าวสาร ข่าวบันเทิงจากต่างประเทศ ฯลฯ สิ่งเหล่านี้มีอิทธิพลต่อความเชื่อ ค่านิยม และทัศนคติ ของวัยรุ่นไทย ทำให้พฤติกรรมและทัศนคติของวัยรุ่นไทยเป็นแบบวัฒนธรรมตะวันตกมากขึ้น (ทับทิม ตรีเจริญ. 2546) แต่ทั้งนี้สังคมไทยยังนิยมให้เยาวชนประพฤติปฏิบัติในกรอบของวัฒนธรรม ประเพณี จึงทำให้วัยรุ่นมีความกังวลใจที่จะประพฤติปฏิบัติตามกระแสวัฒนธรรมที่เปลี่ยนไป กลัวปัญหาที่จะเกิดขึ้นในการมีพฤติกรรมทางเพศที่ไม่เหมาะสม(รัตนา พุ่มสวรรค์. 2544) เช่น การโอบกอดกันในที่สาธารณะ การไปไหนมาไหนกับผู้ชายโดยไม่บอกผู้ปกครอง หรือแม้กระทั่งหญิง-ชาย ที่เปลี่ยนคู่เป็นประจำหรือชอบเที่ยวกับเพศตรงข้ามมากหน้าหลายตา แม้ว่าสื่อมวลชนจะเผยแพร่พฤติกรรมทางเพศจากประเทศในโลกตะวันตกเป็นอย่างมากก็ตาม จึงทำให้วันรุ่นมีเจตคติในการคบเพื่อนต่างเพศในระดับปานกลาง ซึ่งสอดคล้องกับการศึกษาอยู่ในศูนย์การศึกษานอนโรงเรียนในเขตชุมชนหนึ่งของภาคกลาง พบว่า ระดับค่านิยมอยู่ในระดับปานกลาง และสอดคล้องกับงานวิจัยของผกาพันธ์ ชนะภัย(2525) ศึกษาเกี่ยวกับเจตคติในการคบเพื่อนต่างเพศของนักเรียนหญิงพบว่า เจตคติทางเพศของนักเรียนอยู่ในระดับปานกลางและเห็นว่าการคบเพื่อนต่างเพศเป็นเรื่องธรรมดา

2. เปรียบเทียบปัจจัยด้านเพศ ระดับชั้น สัมพันธภาพระหว่างนักเรียนกับ
ผู้ปกครอง ช่องว่างระหว่างวัย สัมพันธภาพระหว่างนักเรียนกับเพื่อน ประเภทโรงเรียน และอิทธิพลจากสื่อเกี่ยวกับการคบเพื่อนต่างเพศ กับเจตคติในการคบเพื่อนต่างเพศของนักเรียนมัธยมศึกษา อภิปรายผลได้ดังนี้

_2.1 เพศ เพศชายมีเจตคติในการคบเพื่อนต่างเพศสูงกว่าเพศหญิงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 การที่ผลการวิจัยเป็นเช่นนี้อาจเนื่องมาจากสังคมกำหนดบทบาทของผู้หญิงให้อยู่ในกรอบประเพณีที่ดีงาม รักนวลสงวนตัว มีความเรียบร้อยสงบเสงี่ยมในการวางตัว ไม่ประพฤติเสียหายในเรื่องเพศจึงทำให้นักเรียนเพศหญิงมีการแสดงออกต่อเพศตรงข้ามอยู่ในระดับน้อยกว่าเพศชาย(ทวีศักดิ์ ถิระบัญชาศักดิ์. 2543 : 2) ซึ่งกล่าวได้ว่าเพศชาย มีความคิดและความรู้สึกที่ดีต่อการคบเพื่อนต่างเพศ รวมถึงมีการวางตัวและการแสดงพฤติกรรมต่อเพศตรงข้ามได้มากกว่าเพศหญิงการศึกษาครั้งนี้สอดคล้องกับ อนุรักษ์ นิติรัช (2525) ที่ศึกษาความคิดเห็นเกี่ยวกับการคบเพื่อนต่างเพศ การเลือกคู่ครอง การสมรส และการหย่าร้างของนักศึกษาวิทยาลัยครูภาคตะวันตก พบว่า เพศชายมีเสรีภาพในการปฏิบัติตนในการคบเพื่อนต่างเพศมากกว่าเพศหญิงในแทบทุกด้าน เช่น การแสดงออกก่อน การออกเที่ยวกลางคืน การออกไปเที่ยวกับเพื่อนต่างเพศตามลำพัง รวมไปถึงการมีความสัมพันธ์ทางเพศ และได้ศึกษาค่านิยมในการคบเพื่อนต่างเพศ สอดคล้องกับ วาทิต อุตอามาตย์ (2524) ที่ได้ศึกษาค่านิยมเกี่ยวกับการสมรสของนักเรียนมัธยมศึกษาตอนปลายในเขตกรุงเทพมหานคร พบว่า เพศชายมีค่านิยมในการคบเพื่อนต่างเพศสูงกว่าเพศหญิง และจิระ จึงเจริญศิลป์ (2523) ได้ศึกษาค่านิยมในการคบเพื่อนต่างเพศของเด็กวัยรุ่นในแหล่งเสื่อมโทรมคลองเตย พบว่าเด็กวัยรุ่นชายมีความรู้สึกเสรีในการปฏิบัติตนในการคบเพื่อนต่างเพศมากกว่าเด็กวัยรุ่นหญิง

_2.2 ระดับชั้น นักเรียนที่ศึกษาในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1-6 มีเจตคติในการคบเพื่อนต่างเพศ แตกต่างกัน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 โดยนักเรียนที่ศึกษาในระดับชั้นเรียนที่สูงขึ้น จะมีเจตคติในการคบเพื่อนต่างเพศสูงขึ้นตามไปด้วย ทั้งนี้เนื่องจาก นักเรียนมัธยมศึกษาที่ศึกษาในระดับชั้นเรียนที่สูงขึ้น จะผ่านการเรียนการสอนวิชาเพศศึกษาที่ให้ความรู้ความเข้าใจ และมีเนื้อหาที่ละเอียด ลึกซึ้งในเรื่องเพศศึกษามามากกว่า รวมถึงผ่านการปรับตัวต่อสถานการณ์เกี่ยวกับการคบเพื่อนต่างเพศมาตั้งแต่ชั้นประถมศึกษา มัธยมศึกษาตอนต้น จนถึงชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย และอธิบายได้จาก ทฤษฎีพัฒนาการ ความรู้ความเข้าใจของ Piaget ที่กล่าวว่า การพัฒนาการทางสติปัญญานั้นเป็นการปรับพฤติกรรมให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมต่างๆ เกิดจากกระบวนการ 2 กระบวนการคือ การรับ (Assimilation) หมายถึง กระบวนการที่เด็กรับภาพต่างๆ จากสิ่งแวดล้อมตามประสบการณ์ของตัวเอง และจะแสดงพฤติกรรมต่อสิ่งใหม่ๆ ดังเช่นที่เคยมีประสบการณ์ และการเก็บและปรุงแต่ง (Accommodation) หรือการปรับความเข้าใจเดิมให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมใหม่ ดังนั้นการที่บุคคลจะสามารถพัฒนาการปรับตัวให้ดีขึ้นได้นั้น ย่อมมีผลมาจากการเรียนรู้ในประสบการณ์อดีตและสถานการณ์แต่ละสถานการณ์ของบุคคล และการพัฒนาความรู้ความเข้าใจจะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ตามวัยของบุคคลนั้น (สุชา จันทร์เอม. 2543) การศึกษาครั้งนี้สอดคล้องกับศิริมา ฟองคำ (2541) ที่ศึกษาความรู้และแหล่งความรู้เรื่องเพศของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น ในจังหวัดนครราชสีมา พบว่า นักเรียนที่มีระดับชั้นแตกต่างกัน มีความรู้ความเข้าใจเรื่องเพศแตกต่างกัน โดยนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 มีความรู้ความเข้าใจเรื่องเพศสูงกว่านักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 และสอดคล้องกับ ณัฐวรา จันทร์เอี่ยม (2546) ที่ศึกษาทักษะทางความคิดในการปรับตัวด้านสัมพันธภาพกับเพื่อนต่างเพศ ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายในเขตกรุงเทพมหานคร พบว่า กลุ่มนักเรียนที่เรียนในระดับชันมัธยมศึกษาปีที่ 6 มีค่าเฉลี่ยคะแนนทักษะทางความคิดในการปรับตัวกับเพื่อนต่างเพศสูงกว่ากลุ่มนักเรียนที่เรียนในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 และ 4 ตามลำดับ

_2.3 ประเภทโรงเรียน นักเรียนมัธยมศึกษาที่ศึกษาในโรงเรียนชายล้วน หญิงล้วน และสหศึกษา มีเจตคติในการคบเพื่อนต่างเพศแตกต่างกัน โดยนักเรียนมัธยมศึกษาที่ศึกษาในโรงเรียนชายล้วน มีเจตคติในการคบเพื่อนต่างเพศสูงกว่า นักเรียนในโรงเรียนสหศึกษาและนักเรียนในโรงเรียนหญิงล้วน ซึ่งสอดคล้องกับ นิ่มนวล อัณทะชัย (2532) ได้ศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างอัตมโนทัศน์กับการปรับตัวด้านสัมพันธภาพกับเพื่อนต่างเพศ พบว่า การปรับตัวกับเพื่อนต่างเพศของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นในโรงเรียนสหศึกษา ชายล้วน หญิงล้วน มีความแตกต่างกันทางสถิติอย่างมีนัยสำคัญที่ .01 และสอดคล้องกับ ชุลีพร อินทรไพบูลย์ (2536) ซึ่งได้ทำการศึกษาค่านิยมเกี่ยวกับพฤติกรรมในเรื่องเพศของนักเรียนวัยรุ่นในเขตกรุงเทพมหานคร พบว่า นักเรียนในโรงเรียนชายล้วนมีค่านิยมต่อพฤติกรรมทางเพศในทางลบสูงที่สุด เช่น การมีคู่รักหลายคนในเวลาเดียวกันเป็นสิ่งที่ดี การมีเพศสัมพันธ์กับเพื่อนต่างเพศระหว่างศึกษาเป็นเรื่องน่าลอง และจากการวิจัยครั้งนี้พบว่า นักเรียนที่ศึกษาในโรงเรียนชายล้วนมีเจตคติในการคบเพื่อนต่างเพศสูงกว่า นักเรียนที่ศึกษาในโรงเรียนสหศึกษาและโรงเรียนหญิงล้วน อาจเป็นเพราะ นักเรียนชายในโรงเรียนชายล้วนมีการสื่อสารกับเพื่อนในเรื่องเพศ เช่น การดูภาพโป๊ การพูดคุยเกี่ยวกับเรื่องเพศสัมพันธ์ได้มากกว่านักเรียนชายในโรงเรียนสหศึกษา เพราะ ในโรงเรียนชายล้วนมีเฉพาะกลุ่มเพื่อนเพศเดียวกันทำให้กล้าสื่อสารในเรื่องเพศอย่างเปิดเผย ซึ่งสอดคล้องกับร้อยตำรวจเอกทวีศักดิ์ ถิระบัญชาศักดิ์(2543 :อ้างอิงจากนพพร พานิชสุข) ได้ทำการศึกษาเรื่องทัศนคติและความต้องการของอาจารย์และนักเรียนมัธยมสาธิตรามคำแหงในเรื่องการสอนเพศศึกษา พบว่า กลุ่มเพื่อนมีอิทธิพลต่อความรู้ในเรื่องเพศของนักเรียนชายมากที่สุด โดยเฉพาะในเรื่องการดูภาพโป๊ และการเที่ยวโสเภณี ในกรณีที่มีปัญหาเกี่ยวกับเรื่องเพศนั้น นักเรียนชายส่วนใหญ่ต้องการปรึกษาเพื่อนสนิทมากกว่าพ่อแม่และครู

_2.4 สัมพันธภาพระหว่างนักเรียนกับผู้ปกครอง สัมพันธภาพระหว่างนักเรียนกับผู้ปกครอง นักเรียนมัธยมศึกษาที่มีสัมพันธภาพกับผู้ปกครองในระดับสูง ปานกลาง และต่ำ มีเจตคติในการคบเพื่อนต่างเพศแตกต่างกัน เนื่องจากการมีส่วนร่วมในกิจกรรมของครอบครัวร่วมกัน เป็นองค์ประกอบที่ช่วยเสริมสร้างความสัมพันธ์ที่ดีของสมาชิกในครอบครัว ซึ่งความสัมพันธ์ภายในครอบครัวมีอิทธิพลต่อการกำหนดพฤติกรรม บุคลิกภาพและการเรียนรู้ระเบียบของสังคม (ทวีรัสมิ์ ธนาคม. 2524) จึงอาจส่งผลต่อการมีทักษะทางความคิด ในการปรับตัวด้านสัมพันธภาพกับเพื่อนต่างเพศของนักเรียน ซึ่งสอดคล้องกับ จิระ จึงเจริญศิลป์ (2523) ได้ศึกษาเปรียบเทียบค่านิยมในการคบเพื่อนต่างเพศของวัยรุ่นในแหล่งเสื่อมโทรมคลองเตย พบว่า เด็กวัยรุ่นที่รู้สึกว่าครอบครัวไม่สงบสุข มีความรู้สึกในการคบเพื่อนต่างเพศ มากกว่าเด็กวัยรุ่นที่รู้สึกครอบครัวสงบสุข อย่างมีนัยสำคัญ .05 และสอดคล้องกับ นิศารัตน์ ทองอุปการ (2538) ศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างรูปแบบการการสื่อสารภายในครอบครัว และเจตคติต่อเรื่องเพศของวัยรุ่นในเขตกรุงเทพมหานคร พบว่าการสื่อสารในครอบครัวแบบเปิดคือ มีการพูดคุยสื่อสารกันมากระหว่างสมาชิกในครอบครัวมีความสัมพันธ์กับการที่วัยรุ่นจะมีเจตคติต่อเรื่องเพศในเชิงบวกและเป็นกลาง แต่จากการวิจัยครั้งนี้ พบว่านักเรียนมัธยมศึกษาที่มีสัมพันธภาพระหว่างนักเรียนกับผู้ปกครองในระดับสูงอาจอธิบายได้ว่า วัยรุ่นจะแสดงออกถึงความต้องการอิสระและต้องการอยู่กับเพื่อนมากกว่าพ่อแม่หรือผู้ปกครอง และเนื่องจากวัยรุ่นจะพยายามทำตัวของตัวให้เป็นตัวของตัวเองมากที่สุด ไม่ชอบให้ผู้ใหญ่มายุ่งเกี่ยวกับชีวิตของตน จะเห็นได้จากการขัดแย้งการกระทำต่าง ๆ การคิดและการตักสินใจด้วยตนเอง จึงถูกตำหนิจากผู้ใหญ่อยู่เสมอ ทำให้สัมพันธภาพของวัยรุ่นกับวัยผู้ใหญ่ราบรื่น เด็กวัยรุ่นจึงหันไปหากลุ่มเพื่อนทั้งเพศเดียวกันและต่างเพศ (ปรานี รามสูต. 2528) ดังนั้นวัยรุ่นที่มีความสัมพันธภาพกับผู้ปกครองในระดับปานกลาง อาจจะเป็นเพราะใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่กับเพื่อน ตามความต้องการของวัยรุ่น ซึ่งอาจส่งผลให้นักเรียนมีทักษะทางความคิดในการปรับตัวด้านสัมพันธภาพกับเพื่อนต่างเพศได้ดี

_2.5 ช่องว่างระหว่างวัย นักเรียนมัธยมศึกษาที่มีช่องว่างระหว่างวัยกับผู้ปกครองในระดับ มาก ปานกลาง และน้อย มีเจตคติในการคบเพื่อนต่างเพศไม่แตกต่างกัน เนื่องจาก เจตคติของบุคคลไม่ใช่สิ่งที่มีแต่กำเนิด บุคคลเกิดเจตคติขึ้นได้จากการเรียนรู้ และได้รับประสบการณ์ เชอรีฟและเชอรีฟ(Sherif;&Sherif. 1969:334) และอิทธิพลจากพ่อแม่เป็นแหล่งที่มีอิทธิพลสูงสุดต่อเด็ก (ธีระพร อุวรรณ. 2521) ดังนั้นเด็กที่เจริญเติบโตขึ้นจนถึงช่วงวัยรุ่น จึงมีเจตคติที่คล้ายคลึงกับพ่อแม่ ทั้งเจตคติที่มีต่อวัฒนธรรม จารีตประเพณี การดำเนินชีวิต และรวมไปถึงเจตคติทางเพศด้วย ดังที่เบงสัน (จรรยา สุวรรณทัต และคณะ. 2529: 16; อ้างอิงจาก Bengtson, 1970) นักทฤษฎีในเรื่องช่วงอายุ ได้ให้แนวคิดเกี่ยวกับเรื่องช่องว่างระหว่างวัยว่า เป็นความต่อเนื่องระหว่างสมาชิกที่อยู่ในช่วงอายุต่างๆ คือ ไม่ได้สิ่งใดใหม่จริงๆ(nothing really new position) แนวคิดนี้ชี้ให้เห็นความคล้ายคลึงกันภายในครอบครัวในเรื่องทัศนคติพื้นฐาน ชี้ให้เห็นความสำคัญของพ่อแม่ ในฐานะเป็นบุคคลที่สามารถอ้างอิงได้สำหรับวัยรุ่น และความใกล้ชิดของการสื่อสารระหว่างพ่อแม่ และเด็กทุกอายุ และสรุปว่าที่กล่าวกันว่ามีช่องว่างระหว่างวัยนั้น แท้จริงแล้วช่องว่างนี้ก็เป็นเพียงการสะท้อนให้เห็นความแตกต่างกันทางด้านสังคมอย่างหนึ่งเท่านั้น อีกเหตุผลหนึ่งที่สามารถกล่าวได้ คือ ในปัจจุบันผู้ปกครองมีโอกาสเข้าถึงสื่อต่างๆได้มากกว่า โดยเฉพาะข่าวสาร และกิจกรรมต่างๆในด้านของการอบรมเลี้ยงดู เพื่อลดปัญหาการสื่อสารระหว่างวัย และลดความคิดขัดแย้งระหว่างวัยรุ่นกับผู้ปกครอง รวมทั้งบอกถึงธรรมชาติ และความสนใจของวัยรุ่นไว้เพื่อลดปัญหาที่อาจเกิดขึ้น เช่นปัญหาเกี่ยวกับเพศและการคบเพื่อนต่างเพศ ซึ่งเป็นสิ่งที่วัยรุ่นกำลังให้ความสนใจมาก ทำให้พ่อแม่ผู้ปกครองมีความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับเรื่องนี้ ทั้งรายการโทรทัศน์ วิทยุ หนังสือ อินเตอร์เน็ต ที่มีทั้งข้อเท็จจริง ข้อเสนอแนะ หรือสอดแทรกข้อคิดเกี่ยวกับการอบรมเลี้ยงดู การสื่อสาร และเข้าใจเด็กในช่วงวัยรุ่นเอาไว้ อีกสถาบันหนึ่งที่มีส่วนสำคัญมากก็คือโรงเรียน ซึ่งเป็นผู้ประสานความเข้าใจระหว่างนักเรียนกับผู้ปกครอง โดยมีการจัดตั้งสมาคมผู้ปกครองและครู เพื่อให้ผู้ปกครองได้แลกเปลี่ยนความรู้ และความคิดเห็นในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับเด็กในปกครองของตน มีการจัดประชุมผู้ปกครองอย่างสม่ำเสมอ และมีกิจกรรมเพื่อสานสัมพันธ์ระหว่างนักเรียนกับผู้ปกครอง ซึ่งทำให้ผู้ปกครองปรับเปลี่ยนทัศนคติ และเข้าใจโลกของวัยรุ่น รวมทั้งยอมรับการเปลี่ยนแปลงต่างๆภายในสังคมได้มากขึ้น นอกจากนี้หากจะมองในอีกแง่มุมหนึ่ง พ่อแม่ ผู้ปกครองก็มักจะมีบทบาทน้อยที่จะเป็นแหล่งความรู้เรื่องเพศ เนื่องจาก ในประเทศไทยการพูดคุยเรื่องเพศอย่างเปิดเผยในครอบครัวยังไม่เป็นที่ยอมรับมากนัก จากการสำรวจเกี่ยวกับวัยรุ่นหลายครั้งมีข้อค้นพบที่เหมือนกันประการหนึ่งคือ ครอบครัวหรือบิดามารดาไม่ใช่แหล่งความรู้ที่สำคัญในเรื่องเพศ (เพ็ญศรี พิชัยสนิธ และคณะ. 2529) ดังนั้นแม้จะมีช่องว่างระหว่างวัยมากหรือน้อย ก็ไม่ได้ทำให้เจตคติในการคบเพื่อนต่างเพศของวัยรุ่นแตกต่างกัน และจากการศึกษาของ นรา สมประสงค์ (2520) เรื่องความสัมพันธ์ระหว่างความขัดแย้งของวัยรุ่นกับพ่อแม่ และการอบรมเลี้ยงดูของพ่อแม่ พบว่าเรื่องที่มีความขัดแย้งระหว่างพ่อแม่ และลูกน้อย คือ เรื่องบ่นเกี่ยวกับการสูบบุหรี่ การแต่งกายไปทำบุญ การคบเพื่อนต่างเพศ และการรับประทานอาหาร ซึ่งแสดงให้เห็นว่าเรื่องการคบเพื่อนต่างเพศไม่ใช่เรื่องที่พูดคุยกันในครอบครัวมากนัก จึงทำให้ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นมีน้อย เพราะฉะนั้นถึงแม้ว่าระยะห่างของอายุระหว่างวัยรุ่นกับผู้ปกครองจะมากหรือน้อย ก็ไม่ได้ทำให้เจตคติในการคบเพื่อนต่างเพศแตกต่างกัน

_2.6 สัมพันธภาพระหว่างนักเรียนกับเพื่อน นักเรียนมัธยมศึกษาที่มีสัมพันธภาพระหว่างนักเรียนกับเพื่อนในระดับ สูง ปานกลาง และต่ำ มีเจตคติในการคบเพื่อนต่างเพศไม่แตกต่างกัน เนื่องจากวัยรุ่นเป็นวัยที่ต้องการอิสรภาพมาก การดิ้นรนเป็นอิสระของเด็กคือ การปลีกตัวออกจากการเกี่ยวพันทางบ้าน รวมทั้งจะไม่ชอบให้พ่อแม่พี่น้องมายุ่งเกี่ยวกับเรื่องส่วนตัวของเขา อิสรภาพที่เด็กวัยรุ่นต้องการได้แก่ อิสระภาพทางด้านการแต่งกาย อิสระภาพทางการคบเพื่อน และอิสระภาพด้านการเที่ยวเตร่ (พรพิมล เจียมนาครินทร์. 2542) ดังนั้นวัยรุ่นจึงต้องการอิสระในการแสดงออกทางด้านความคิด ความรู้สึก และพฤติกรรมต่อเพื่อนต่างเพศ ทำให้สัมพันธภาพระหว่างนักเรียนกับเพื่อนไม่ส่งผลต่อเจตคติในการคบเพื่อนต่างเพศในวัยรุ่นซึ่งสอดคล้องกับงานวิจัยของ จรรยา เศรษฐบุตร (2536) ซึ่งศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างอิทธิพลภายในครอบครัว และอิทธิพลภายนอกครอบครัวต่อค่านิยมทางเพศของวัยรุ่นหญิงในอำเภอนางรอง จังหวัดบุรีรัมย์ พบว่า วัยรุ่นที่มีระดับความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับเพื่อนต่างเพศที่มีพฤติกรรมเบี่ยงเบนสูงไม่มีแนวโน้มว่ามีค่านิยมทางเพศแบบเสรีนิยม และวัยรุ่นที่มีระดับความสัมพันธ์กับเพื่อนต่ำก็ไม่มีแนวโน้มจะมีค่านิยมทางเพศแบบประเพณีนิยม แต่ผลการศึกษาครั้งนี้ไม่สอดคล้องกับ หทัยขวัญ สหชัยยัน (2548) ที่ศึกษาองค์ประกอบที่มีอิทธิพลต่อเจตคติในการคบเพื่อนต่างเพศของนักเรียนช่วงชั้นที่ 3 โรงเรียนการเคหะท่าทราย เขตหลักสี่ กรุงเทพมหานคร พบว่า สัมพันธภาพระหว่างนักเรียนกับเพื่อน มีความสัมพันธ์ทางบวกกับเจตคติในการคบเพื่อนต่างเพศ และผลการศึกษาครั้งนี้ไม่สอดคล้องกับกิติกร มีทรัพย์ (อารมณ์ มัตตะเดช อ้างจาก กิติกร มีทรัพย์.2527) ที่กล่าวว่า วัยรุ่นต้องการมีสัมพันธ์กับเพื่อนต่างเพศโดยธรรมชาติ ซึ่งในเรื่องนี้วัยรุ่นส่วนใหญ่ไม่อาจกระทำได้โดยตรง แต่อาศัยการผ่านกลุ่มต่างๆเป็นสื่อกลาง โดยพัฒนาจากการเป็นเพื่อนธรรมดา ขึ้นสู่การเป็นคนรักตามลำดับ

_2.7 อิทธิพลจากสื่อเกี่ยวกับการคบเพื่อนต่างเพศ จากการศึกษาครั้งนี้นักเรียนมัธยมศึกษา ที่รับเนื้อหาจากสื่อวิทยุ โทรทัศน์ วีดิทัศน์ สื่อสิ่งพิมพ์ และอินเตอร์เน็ต มีเจตคติในการคบเพื่อนต่างเพศแตกต่างกัน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 ที่เป็นเช่นนี้เพราะ ปัจจุบันความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีมีมาก การแพร่ข้อมูลข่าวสาร หรือเรื่องราวต่าง ๆ สามารถเข้าถึงผู้บริโภคได้อย่างรวดเร็วและกว้างขวาง เกือบทุกครัวเรือนได้รับข้อมูลข่าวสารและความบันเทิงผ่านทางสื่อมวลชนประเภทต่าง ๆ ซึ่งสื่อเหล่านี้มีผลต่อพฤติกรรมของเด็ก เพราะเป็นตัวกลางในการนำเสนอตัวแบบให้แก่เด็ก ทำให้เด็กอาจจะเลียนแบบพฤติกรรมนั้น ๆ ได้ ซึ่งเป็นไปตามหลักการเรียนรู้ตามทฤษฎีการเรียนรู้ทางสังคมของ โจเซฟ แคลปเปอร์ (กิตติ กันภัย. 2543: 39; อ้างอิงจาก Klapple,J.T. 1960) ที่กล่าวว่า เนื้อหาในสื่อมวลชนสามารถเป็นแรงเสริมเจตคติ ค่านิยม ปทัสถานความเชื่อ ของบุคคลที่รับสารได้ และหากบุคคลนั้น ๆ เชื่อในสิ่งเหล่านั้นอยู่แล้ว สิ่งที่เสนอในสื่อมวลชน ช่วยให้ความเชื่อนั้นหนักแน่นขึ้น ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับทัศนะเดิมของผู้รับสารอยู่แล้ว และจากการศึกษาครั้งนี้พบว่า นักเรียนมัธยมศึกษาที่รับสื่อวีดิทัศน์ มีเจตคติในการคบเพื่อนต่างเพศสูงกว่านักเรียนมัธยมศึกษาที่รับสื่อโทรทัศน์และอินเตอร์เน็ต อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 เพราะสื่อวีดิทัศน์เป็นสื่อที่สามารถมีสิทธิครอบครองหรือหาซื้อได้โดยง่าย และเนื้อหาภายใน มักแสดงออกถึงเรื่องเพศหรือการคบเพื่อนต่างเพศอย่างเปิดเผย ซึ่งบางครั้งไม่มีการตรวจสอบเนื้อหาเรื่องราวก่อนที่จะนำไปเผยแพร่ โดยเฉพาะภาพยนตร์ต่างประเทศ ทำให้เด็กชอบเลียนแบบจากภาพยนตร์ แล้วนำมาใช้ในชีวิตของตนอย่างไม่ถูกไม่ควร (ประยูรศรี มณีสร. 2528?) ส่วนสื่อโทรทัศน์นั้น เนื้อสื่อที่ออกมาจะได้รับการตรวจสอบจากทั้งทางสถานีโทรทัศน์และองค์กรต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องไม่ให้แพร่ภาพในสิ่งที่ไม่เหมาะสมแก่ผู้รับสื่อ จึงทำให้สื่อวีดิทัศน์ มีผลต่อการเลียนแบบพฤติกรรมได้มากกว่า และในทางเดียวกัน แม้อินเตอร์เน็ตจะเป็นสื่อที่ทันสมัย มีความสามารถ และศักยภาพในการเรียนรู้ในเรื่องต่าง ๆ ได้สูง แต่ในปัจจุบันได้ถูกควบคุมและปราบปรามการเผยแพร่ภาพและเนื้อหาที่ล่อแหลม รวมไปถึงเรื่องราวที่ไม่เหมาะสมต่อเยาวชนต่าง ๆ อย่างเคร่งครัด อีกทั้งบางครัวเรือนอาจยังไม่มีเครื่องคอมพิวเตอร์ ไม่ได้เปิดใช้อินเตอร์เน็ต หรือถ้ามีก็อาจจะถูกควบคุมโดยผู้ปกครอง ให้สามารถเล่นได้ในเว็บไซต์ที่เหมาะสมเท่านั้น (หทัยขวัญ สหชัยยันต์. 2548) จึงทำให้เกิดการเลียนแบบหรือเสริมสร้างเจตคติในการคบเพื่อนต่างเพศได้ยากกว่าการรับสื่อวีดิทัศน์ สอดคล้องกับดร.พิชิต พิทักษ์เทพสมบัติและดร.จำนง วิบูลย์ศรี (2534) ได้ศึกษาการเปิดรับข่าวสารต้องห้ามของเยาวชนไทย อายุระหว่าง 15-24 ปี จำนวน1,018 คน ในเขตชนบทและเขตทั่วประเทศยกเว้นกรุงเทพมหานครพบว่าเยาวชนกว่าครึ่งหนึ่ง (ร้อยละ 60.0 ) เคยดูภาพต้องห้าม และที่น่าเป็นห่วงคือร้อยละ39.3 เคยดูภาพที่แสดงการร่วมเพศหรือภาพโป๊จากVDO ซึ่งเป็นภาพเคลื่อนไหว และน่าจะกระตุ้นเยาวชนได้มากกว่าสื่ออื่น

3. ปัจจัยทางชีวสังคมร่วมกันทำนายเจตคติในการคบเพื่อนต่างเพศของนักเรียนมัธยมศึกษาเพศชาย ได้ร้อยละ 37.3 อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 และปัจจัยที่สามารถพยากรณ์เจตคติในการคบเพื่อนต่างเพศของนักเรียนมัธยมศึกษาเพศชาย มี 4 ปัจจัยโดยเรียงลำดับจากตัวแปรที่ส่งผลมากที่สุดไปหาน้อยที่สุด ได้แก่ ระดับชั้น สื่อโทรทัศน์ สัมพันธภาพระหว่างนักเรียนกับเพื่อน และสัมพันธภาพระหว่างนักเรียนกับผู้ปกครอง ซึ่งปัจจัยทั้ง 4 ปัจจัยนี้สามารถร่วมกันพยากรณ์เจตคติในการคบเพื่อนต่างเพศของนักเรียนมัธยมศึกษาเพศชาย ได้ร้อยละ 36.2 อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 อภิปรายผลได้ดังนี้

_3.1 ระดับชั้น เป็นปัจจัยที่ส่งผลทางบวกต่อเจตคติในการคบเพื่อนต่างเพศของนักเรียนมัธยมศึกษาเพศชาย อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 เป็นอันดับแรก แสดงว่า เมื่อนักเรียนมัธยมศึกษาเพศชายศึกษาในระดับชั้นเรียนที่สูงขึ้น จะมีเจตคติในการคบเพื่อนต่างเพศสูงขึ้นตามไปด้วย ดังที่ สุชา จันทน์เอม (2529) กล่าวว่า วัยรุ่นที่มีอายุระหว่าง 12-15 ปี เป็นวัยที่เริ่มสนใจเพศตรงข้าม ต้องการมีมิตรภาพ ความรัก และต้องการอิสระจากบิดามารดา เป็นวัยที่เริ่มคบหาเพศตรงข้ามที่ถูกใจ ซึ่งเป็นบันไดขั้นแรกนำไปสู่ความรักเพศตรงข้าม และความสัมพันธ์ทางเพศ อีกทั้งหลักสูตรการศึกษาในระดับมัธยมศึกษา มีการสอดแทรกเนื้อหาความรู้เรื่องเพศในวิชาต่างๆมากขึ้น กล่าวคือ หลักสูตรได้กำหนดเนื้อหาเรื่องเพศไว้ในวิชาสุขศึกษา วิทยาศาสตร์ คหกรรมศาสตร์ เป็นต้น (ศิริมา ฟองคำ. 2541) ซึ่งทำให้เมื่อศึกษาในระดับชั้นที่สูงขึ้น นักเรียนก็จะผ่านการศึกษาในวิชาต่างๆที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับเพศศึกษามากขึ้น ส่วนการที่ปัจจัยระดับชั้นส่งผลต่อเจตคติในการคบเพื่อนต่างเพศในนักเรียนมัธยมศึกษาเพศชายเป็นอันดับแรกเป็นเพราะ การสอนเรื่องเพศศึกษากับนักเรียนชายที่ศึกษาในระดับชั้นต่างๆ ครูอาจารย์จะใช้วิธีการสอนที่ตรงไปตรงมาและชัดเจน ไม่จำเป็นต้องระมัดระวังคำพูดและมีการวางตัวมากเท่าการสอนนักเรียนเพศหญิง ทำให้นักเรียนชายมีการเรียนรู้และมีความเข้าใจที่ดี ซึ่งส่งผลถึงการมีเจตคติในการคบเพื่อนต่างเพศดีตามไปด้วย

_3.2 สื่อโทรทัศน์ เป็นปัจจัยที่ส่งผลทางบวกต่อเจตคติในการคบเพื่อนต่างเพศของนักเรียนมัธยมศึกษาเพศชาย อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 เป็นอันดับสอง แสดงว่า เมื่อนักเรียนมัธยมศึกษาเพศชายได้รับเนื้อสื่อจากโทรทัศน์มาก จะมีเจตคติในการคบเพื่อนต่างเพศสูงขึ้น ที่เป็นเช่นนี้เพราะ โทรทัศน์เป็นสื่อที่มีอิทธิพลสูงมากกว่าสื่อประเภทอื่น ๆ เพราะได้เห็นทั้งภาพ ได้ยินทั้งเสียง สามารถดึงดูดความสนใจของเด็กได้มากที่สุด เด็กสมัยนี้มีความฉลาดกว่าสมัยก่อนมาก เพราะมีโอกาสได้ฟังเรื่องราว ข่าวสาวที่แปลกใหม่ทันต่อเหตุการณ์ทั้งภายในและต่างประเทศ ได้เห็นความเจริญก้าวหน้าในวิทยาการแขนงต่าง ๆ ชีวิตความเป็นอยู่ทั้งของคนและสัตว์ เป็นแหล่งเสนอความบันเทิงทุกรูปแบบแก่เด็ก ขณะเดียวกันโทรทัศน์ก็เข้ามาแย่งเวลาของครอบครัว เวลาทำการบ้าน เวลาทำกิจกรรมอื่นๆ และไม่ช่วยพ่อแม่ทำงานบ้าน ฯลฯ เมื่อเด็กมีโทรทัศน์เป็นเพื่อนแทน เด็กจะหันเหความคิดของตนไปสู่เรื่อง ความคิดเดียวกับและพร้อม ๆ กันจากเรื่องจริงบ้าง เรื่องที่แต่งขึ้นมาบ้าง โดยหวังเพียงความเพลินเพลิน เด็กไม่มีการเลือกและไม่สามารถแยกออกได้ว่า เรื่องใดดีหรือไม่ดี (สุกัญญา ตีระวนิช และนันทริกา คุ้มไพโรจน์. 2545?) และปัจจุบัน เนื้อสื่อที่นำเสนอในโทรทัศน์ มักชอบนำเรื่องทางเพศมาเกี่ยวข้อง จึงอาจจะทำให้ผู้ได้รับสื่อรู้สึกว่าเรื่องทางเพศเป็นเรื่องธรรมดา และทำให้มีเจตคติในการคบเพื่อนต่างเพศสูงขึ้นได้ ซึ่งสอดคล้องกับงานวิจัยของบำรุงสุข สีหอำไพ จำนง วิบูลย์ศรี สุกัญญา ตีระวนิช (สุกัญญา ตีระวนิช และนันทริกา คุ้มไพโรจน์. อ้างอิงจาก บำรุงสุข สีหอำไพ จำนง วิบูลย์ศรี สุกัญญา ตีระวนิช. 2545?) ได้ทำการวิจัยสำรวจแบบแผนทั่วไปในการดูโทรทัศน์ของเด็ก และค้นคว้า ประเมินผลกระทบต่างๆ ของโทรทัศน์ ในด้านชีวิตความเป็นอยู่ แรงบันดาลใจตลอดจนความสัมพันธ์ภายในครอบครัวของเด็กเปรียบเทียบอิทธิพลของโทรทัศน์กับการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรมในประเทศญี่ปุ่น ไทย ฟิลิปปินส์ โดยทำการศึกษากับเด็กในช่วงอายุ 7-10 ปีจำนวน 200 คน กับมารดาของเด็กอีก 200 คน พบว่า นักเรียนมัธยมศึกษาปีที่ 2 ส่วนใหญ่ได้รับอิทธิพลทางจริยธรรมจากสื่อละครโทรทัศน์ตามพฤติกรรมของตัวละคร และเหตุการณ์ที่มีอิทธิพลต่อนักเรียน ส่วนการที่โทรทัศน์ส่งผลต่อเจตคติในการคบเพื่อนต่างเพศเฉพาะในนักเรียนมัธยมศึกษาเพศหญิง เนื่องจาก เด็กชายและหญิงชอบสื่อต่างชนิดกัน นิตยสารเป็นสื่อที่เด็กหญิงชอบ และอ่านมากกว่าเด็กชาย แต่เด็กชายชอบภาพเคลื่อนไหวมากกว่าผู้หญิง (สุกัญญา ตีระวนิช และนันทริกา คุ้มไพโรจน์. 2545?)

_3.3 สัมพันธภาพระหว่างนักเรียนกับเพื่อน เป็นปัจจัยที่ส่งผลทางบวกต่อเจตคติในการคบเพื่อนต่างเพศของนักเรียนมัธยมศึกษาเพศชาย อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 เป็นอันดับสาม แสดงว่า เมื่อนักเรียนมัธยมศึกษาเพศชายมีสัมพันธภาพระหว่างนักเรียนกับเพื่อนสูง จะมีเจตคติในการคบเพื่อนต่างเพศสูงขึ้น ที่เป็นเช่นนี้เพราะเพื่อนเป็นผู้ที่มีอิทธิพลและมีความใกล้ชิดกับวัยรุ่นเพศชายมากจึงดึงดูดความสนใจและช่วยให้ประสิทธิภาพของการเลียนแบบสูงขึ้น ดังคำกล่าวของ ผ่องพรรณ เกิดพิทักษ์ (ปิยะธิดา เกษสุวรรณ อ้างอิงจาก ผ่องพรรณ เกิดพิทักษ์. 2530) ที่กล่าวว่า ตัวแบบและผู้เลียนแบบควรมีความคล้ายคลึงกัน มีลักษณะหรือคุณสมบัติร่วมกันจะช่วยดึงดูดความสนใจของผู้สังเกต จะช่วยให้ประสิทธิภาพของการเลียนแบบสูงขึ้น เช่น อยู่ในวัยเดียวกัน เป็นเพื่อนกัน นอกจากนี้ ศรีเรือน แก้วกังวาล (2530) ยังกล่าวไว้ว่า การเข้ากลุ่มนอกจากเป็นช่องทางให้เด็กได้รับการตอบสนอง ความต้องการขั้นพื้นฐานทางสังคมในแง่ต่างๆ เช่น ฐานะ ตำแหน่ง คำยกย่อง มีเพื่อนผู้เข้าใจและร่วมทุกข์ร่วมสุข ยังเปิดโอกาสให้เด็กชายและเด็กหญิงได้รู้จักมักคุ้น เข้าใจความแตกต่างระหว่างเพศ รู้จักประพฤติตนตามบทบาทเพศ รู้จักปฏิบัติตนต่อเพื่อนร่วมเพศและต่างเพศ จึงเป็นเหตุให้เจตคติในการคบเพื่อนต่างเพศสูงขึ้นได้ ส่วนสาเหตุที่ทำให้สัมพันธภาพระหว่างนักเรียนกับเพื่อนส่งผลต่อเจตคติในการคบเพื่อนต่างเพศเฉพาะในนักเรียนมัธยมศึกษาเพศชาย เนื่องจาก ตามสภาพสังคมไทย เพศชาย เพศหญิง ได้รับการสั่งสอนหรือได้รับการคาดหวังจากสังคมแตกต่างกัน โดยที่เพศหญิงได้รับการปลูกฝังให้มีอิสระน้อย อยู่ในความดูแลของบิดามารดาอย่างใกล้ชิด ต้องทำตามความต้องการของบิดามารดา มีกฎเกณฑ์มารยาททางสังคม เป็นแนวทางในการปฏิบัติตัว ส่วนเพศชายสังคมไทยมีความเชื่อว่ามีความเป็นผู้นำ ได้รับการยกย่องทางสังคม ได้รับการเลี้ยงดูให้มีอิสระมากกว่าเพศหญิง มีกฎเกณฑ์มารยาททางสังคม เป็นแนวทางในการปฏิบัติ จำกัดน้อยกว่าเพศหญิง ทำให้สามารถคบหาเพื่อนได้โดย ไม่ต้องการการปกป้องดูแลจากบิดา มารดาอย่างใกล้ชิด เหมือนกับเพศหญิง (ชมนุช บุญสิทธิ์. 2541)

_3.4 สัมพันธภาพระหว่างนักเรียนกับผู้ปกครอง เป็นปัจจัยที่ส่งผลทางลบต่อเจตคติในการคบเพื่อนต่างเพศของนักเรียนมัธยมศึกษาเพศชาย อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 เป็นอันดับสุดท้าย แสดงว่า เมื่อนักเรียนมัธยมศึกษาเพศชายมีสัมพันธภาพระหว่างนักเรียนกับผู้ปกครองสูง จะมีเจตคติในการคบเพื่อนต่างเพศต่ำ เพราะธรรมชาติของวัยรุ่นเพศชายมีความอยากรู้อยากเห็น โดยเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวกับเพศตรงข้าม จะผลักดันให้เด็กเสาะหาความรู้เกี่ยวกับเรื่องเพศ หรือประกอบกิจกรรมทางเพศ ซึ่งจะกระทำได้มากหรือน้อยขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อม ได้แก่ ขนบธรรมเนียมประเพณี วัฒนธรรมของแต่ละสังคม และการอบรมเลี้ยงดูของบิดามารดา (มลวิภา สุวรรณมาลัย. 2516: 44) นอกจากนี้ ครอบครัวเป็นสถาบันที่ปลูกฝังจริยธรรมให้กับวัยรุ่น เมื่อวัยรุ่นมีสัมพันธภาพกับผู้ปกครองสูง ก็จะได้รับอิทธิพลทางด้านจริยธรรมสูง ดังคำกล่าวของ เคย์ (ดวงเดือน พันธุมนาวิน และเพ็ญแข ประจนปัจนึก; อ้างอิงจาก Kay. 1975) ที่กล่าวว่าครอบครัวมีบทบาทที่สำคัญมาก และเป็นจุดเริ่มต้นของการปลูกฝังจริยธรรมในเด็ก แม้เมื่อเด็กโตขึ้นยังได้รับอิทธิพลของสังคมจากแหล่งอื่นๆ เช่น สื่อมวลชน โรงเรียน กลุ่มเพื่อน ศาสนา กลุ่มงาน เป็นต้น แต่ครอบครัวก็เป็นผู้เตรียมพื้นฐานทางจิตใจ ให้บุคคลรับอิทธิพลจากแหล่งอื่นๆ ในปริมาณและคุณภาพที่แตกต่างกัน ซึ่งสอดคล้องกับการศึกษาของ นพพร พานิชสุข (2522) ที่ศึกษาค่านิยมเกี่ยวกับความบริสุทธิ์ของหญิงสาวก่อนแต่งงาน พบว่า นักเรียนชายร้อยละ 39.2 เห็นว่าเป็นสิ่งจำเป็น และสอดคล้องกับงานวิจัยของ เกื้อ วงศ์บุญสิน และเยาวรัตน์ ปรปักษ์ขาม (2531) ที่ศึกษาทัศนคติและพฤติกรรมทางเพศของเยาวชนไทย พบว่า เยาวชนชายร้อยละ 83.9 มีทัศนคติไม่เห็นด้วยที่หนุ่มสาวจะมีเพศสัมพันธ์ก่อนแต่งงาน

4. ปัจจัยทางชีวสังคมร่วมกันทำนายเจตคติในการคบเพื่อนต่างเพศของนักเรียนมัธยมศึกษาเพศหญิง ได้ร้อยละ 36.1 อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 และ ปัจจัยที่สามารถพยากรณ์เจตคติในการคบเพื่อนต่างเพศของนักเรียนมัธยมศึกษาเพศหญิง มี 3 ปัจจัย โดยเรียงลำดับจากตัวแปรที่ส่งผลมากที่สุดไปหาน้อยที่สุด ได้แก่ สัมพันธภาพระหว่างนักเรียนกับผู้ปกครอง ระดับชั้น และโรงเรียนสหศึกษา ซึ่งปัจจัยทั้ง 3 ปัจจัยนี้สามารถร่วมกันพยากรณ์เจตคติในการคบเพื่อนต่างเพศของนักเรียนมัธยมศึกษาเพศหญิง ได้ร้อยละ 33.9 อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 อภิปรายผลได้ดังนี้

_4.1 สัมพันธภาพระหว่างนักเรียนกับผู้ปกครอง เป็นปัจจัยที่ส่งผลทางลบต่อเจตคติในการคบเพื่อนต่างเพศของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาเพศหญิง อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 เป็นอันดับแรก แสดงว่า เมื่อนักเรียนมัธยมศึกษาเพศหญิงมีสัมพันธภาพระหว่างนักเรียนกับผู้ปกครองสูง จะมีเจตคติในการคบเพื่อนต่างเพศต่ำ เนื่องจากในสังคมไทย ครอบครัวเป็นสถาบันทางสังคมที่มีอิทธิพลต่อจิตใจคนไทยมาตั้งแต่เด็กจนกระทั่งเป็นผู้ใหญ่ คนไทยจะผูกพันกับครอบครัว โดยเฉพาะบิดามารดาของตนจนแก่เฒ่า อาจกล่าวได้ว่าครอบครัวไทยมีบทบาทสำคัญต่อจิตใจมากกว่าที่จะปรากฏในวัฒนธรรมอื่นๆ (ดวงเดือน พันธุมนาวิน และเพ็ญแข ประจนปัจจนึก. 2524: 8) โดยธรรมชาติของเพศหญิงนั้น เป็นเพศที่อ่อนโยน ไม่หยาบกระด้าง ดังนั้นจึงมีการสื่อสารระหว่างกัน ทำให้สนิทสนมกับผู้ปกครอง ตัวผู้ปกครองเองก็กล้าที่จะซักถามถึงเรื่องเรียน เรื่องงาน รวมทั้งเรื่องเกี่ยวกับเพื่อนต่างเพศ คอยเป็นที่ปรึกษาให้กับวัยรุ่น วัยรุ่นจึงเห็นแนวทางปฏิบัติตน ไม่ออกนอกลู่ทาง และประพฤติตนตามปทัสฐานของสังคมไทยที่มีค่านิยมเกี่ยวกับการรักนวลสงวนตัวของหญิงไทย ซึ่งมีหลักฐานปรากฏอยู่ในวรรณกรรมต่างๆของไทย เช่น สุภาษิตสอนหญิงที่พยายามจะสั่งสอน อบรมให้หญิงไทยประพฤติปฏิบัติอยู่ในกรอบประเพณี ลูกผู้หญิงจึงถูกอบรมอย่างเข้มงวดกวดขันมากกว่าลูกผู้ชาย เนื่องจากหากเกิดความพลาดพลั้งทางเพศขึ้นมา ฝ่ายหญิงจะเป็นฝ่ายเสียเปรียบเพราะปรากฏประจักษ์พยานทางร่างกายอย่างชัดเจน และจะมีปฏิกิริยาตอบโต้ทางสังคมอย่างรุนแรง ตรงข้ามกับฝ่ายชายที่ไม่ถือเป็นเรื่องเสียหาย (จรรยา เศรษฐบุตร. 2536: 23) ซึ่งสอดคล้องกับงานวิจัยของ จริยา พงศ์วิวัฒน์ (2526) ที่ศึกษาทัศนคติต่อการมีเพศสัมพันธ์ก่อนแต่งงานของนักเรียนมัธยมศึกษาปีที่ 1 ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่มีอายุอยู่ในช่วงวัยรุ่น ส่วนใหญ่มาจากครอบครัวที่สมบูรณ์ นักศึกษากลุ่มนี้ทั้งหมดเห็นด้วยกับทัศนะที่ว่า เป็นเรื่องเสื่อมเสียที่ผู้หญิงจะมีประสบการณ์ทางเพศก่อนแต่งงาน สอดคล้องกับงานวิจัยของ อุทิศ เชาวลิต (2521) ที่ศึกษาค่านิยมในการมีเพศสัมพันธ์ก่อนสมรส พบว่า นักศึกษาหญิงเห็นว่า การมีเพศสัมพันธ์ก่อนการสมรสของชายและหญิงเป็นเรื่องน่ารังเกียจและไม่ควรปฏิบัติ สอดคล้องกับงานวิจัยของ ขนิษฐา โพธินุกูล (จรรยา เศรษฐบุตร. 2536: 28; อ้างอิงจาก ขนิษฐา โพธินุกูล. 2522) ได้ศึกษาทัศนคติของนักศึกษาต่อพฤติกรรมทางเพศของหนุ่มสาว พบว่า นักศึกษาส่วนใหญ่ ร้อยละ 68.2 เห็นว่าพฤติกรรมการมีความสัมพันธ์ทางเพศก่อนแต่งงานเป็นเรื่องเสียหาย และสอดคล้องกับงานวิจัยของ สุมนา ชมพูทวีป และคนอื่นๆ (2531) ซึ่งกลุ่มตัวอย่างเป็นนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ถึงปีที่ 6 จากโรงเรียนในกรุงเทพมหานคร 21 โรง จำนวน 4,377 คน พบว่ามีเพียงร้อยละ 15.7 ที่เห็นด้วยกับการมีประสบการณ์ทางเพศก่อนการแต่งงานของผู้หญิง

_4.2 ระดับชั้น เป็นปัจจัยที่ส่งผลทางบวกต่อเจตคติในการคบเพื่อนต่างเพศของนักเรียนมัธยมศึกษาเพศหญิง อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 เป็นอันดับสอง แสดงว่า เมื่อนักเรียนมัธยมศึกษาเพศหญิงศึกษาในระดับชั้นที่สูงขึ้น จะมีเจตคติในการคบเพื่อนต่างเพศสูงขึ้นตามไปด้วย ทั้งนี้อาจเนื่องมาจาก เพศหญิงเป็นเพศที่สามารถปรับตัวได้ดีในทุกๆด้าน รวมถึงด้านเจตคติในการคบเพื่อนต่างเพศ ดังที่ แมคโคบีและแจคลิน (จารุวรรณ สกุลคู. 2545: 27; อ้างอิงจาก Maccoby and Jacklin. 1974) กล่าวว่า ในปัจจุบันสังคมส่งเสริมให้ผู้หญิงมีบทบาททางสังคมมากขึ้น ทั้งทางด้านความคิดและการปฏิบัติ ซึ่งผลักดันให้ผู้หญิงต้องขวนขวาย และปรับตัวให้เข้ากับสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ซึ่งสอดคล้องกับการศึกษาของแคคการ์ (ศึกษา พาหะมาก. 2532: 78; อ้างอิงจาก Kakkar. 1968: 706) ที่ศึกษาการปรับตัวกับการยอมรับตนเองระหว่างเด็กหญิงและเด็กชาย พบว่า เด็กหญิงมีการยอมรับและปรับตัวดีกว่าเด็กชาย อีกทั้ง นักเรียนที่มีอายุมากกว่าจะมีวุฒิภาวะ ประสบการณ์ และการถ่ายทอดทางสังคมมากกว่านักเรียนที่อายุน้อย ทำให้เกิดความสามารถในการคิด ทัศนคติ และการเรียนรู้ในสิ่งต่างๆทางด้านวิชาการ การดำเนินชีวิตประจำวันได้ดีกว่านักเรียนที่มีอายุน้อย ซึ่งนั่นก็หมายถึงการมีพัฒนาการทางสติปัญญาที่แตกต่างกัน (ศึกษา พาหะมาก. 2532) สอดคล้องกับการศึกษาของ กุลวรรณ วิทยาวงศ์รุจิ (2526) ที่ศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างสัมพันธภาพในครอบครัวกับการปรับตัว ในกรุงเทพมหานคร โดยใช้กลุ่มตัวอย่างเป็นนักเรียนมัธยมศึกษาตอนต้นและตอนปลาย พบว่า นักเรียนที่มีระดับชั้นเรียนต่างกัน มีการปรับตัวแตกต่างกัน และแนวโน้มของการปรับตัวจะดีขึ้นตามระดับชั้นเรียนที่สูงขึ้น

_4.3 โรงเรียนสหศึกษา เป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อเจตคติในการคบเพื่อนต่างเพศของนักเรียนมัธยมศึกษาเพศหญิง อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 เป็นอันดับสุดท้าย แสดงว่า โรงเรียนสหศึกษาส่งผลให้นักเรียนหญิงมีเจตคติในการคบเพื่อนต่างเพศสูงกว่าโรงเรียนหญิงล้วน ทั้งนี้เนื่องจากในโรงเรียนหญิงล้วนและโรงเรียนสหศึกษามี สิ่งแวดล้อมในโรงเรียน กลุ่มเพื่อน และการสอนวิชาเพศศึกษา หรือวิชาที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับวัยรุ่นและการคบเพื่อนต่างเพศแตกต่างกัน จึงส่งผลให้นักเรียนหญิงในทั้งสองประเภทโรงเรียนมีเจตคติและความสามารถในการปรับตัวต่อการคบเพื่อนต่างเพศแตกต่างกัน ดังที่ ร้อยตำรวจเอกทวีศักดิ์ ถิระบัญชาศักดิ์ (2543: 98) กล่าวว่า เมื่อเปรียบเทียบความแตกต่างในเรื่องความรู้เรื่องเพศศึกษาระหว่างนักเรียนหญิงจากโรงเรียนหญิง และนักเรียนหญิงจากโรงเรียนสหศึกษา พบว่านักเรียนมีความรู้เรื่องเพศศึกษาแตกต่างกันโดยนักเรียนหญิงจากโรงเรียนหญิงแตกต่างกับนักเรียนหญิงจากโรงเรียนสหศึกษา อาจเนื่องมาจากวิธีการสอนที่ครูสอนแตกต่างกัน นโยบายการสอนความรู้เรื่องเพศในปัจจุบันมีอุปสรรคที่สำคัญ คือขาดบุคลากรที่มีความรู้ ขาดความเข้าใจ และเนื้อหาทางเพศถูกจำกัดอยู่ในเนื้อหาวิชาต่าง ๆ ซึ่งสอดคล้องกับ นิ่มนวล อัณทะชัย (2532: บทคัดย่อ) ศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปรอัตมโนทัศน์กับการปรับตัวด้านสัมพันธภาพกับเพื่อนต่างเพศและตัวแปรที่เกี่ยวข้อง พบว่า การปรับตัวกับเพื่อนต่างเพศของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นในโรงเรียนสหศึกษา ชายล้วน หญิงล้วน มีความแตกต่างกันทางสถิติอย่างมีนัยสำคัญที่ .01 และสอดคล้องกับ สิริวรรณ ค่ำแช่ม (2520: 69-68) ที่ศึกษาการปรับตัวในการคบเพื่อนต่างเพศระหว่างนักศึกษาหญิงชั้นปีที่ 1 ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน ที่จบจากโรงเรียนสตรีและโรงเรียนสหศึกษา พบว่า นักศึกษาหญิงที่จบจากโรงเรียนสตรี มีการปรับตัวแตกต่างจากนักศึกษาหญิงที่จบจากโรงเรียนสหศึกษา โดยนักศึกษาหญิงที่จบจากโรงเรียนสตรีมีเพื่อนต่างเพศน้อย ชอบอยู่ในกลุ่มเพื่อนเพศเดียวกัน มีความวิตกต่อการคุ้นเคยใกล้ชิดกับเพศตรงข้าม ส่วนนักศึกษาที่จบจากโรงเรียนสหศึกษา จะมีเพื่อนต่างเพศมากและชอบอยู่ในกลุ่มเพื่อนต่างเพศ มีความเชื่อมั่นในตนเอง ในการคบเพื่อนต่างเพศ อีกทั้งนักเรียนหญิงที่ศึกษาในโรงเรียนสหศึกษามีโอกาสปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนเพศตรงข้าม จึงทำให้เกิดการเรียนรู้และเข้าใจในบทบาททางเพศมากกว่านักเรียนหญิงในโรงเรียนหญิงล้วน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น