วันพฤหัสบดีที่ 15 เมษายน พ.ศ. 2553

วิธีดำเนินการศึกษาค้นคว้า

วิธีดำเนินการศึกษาค้นคว้า

ในการศึกษาค้นคว้าครั้งนี้ ผู้วิจัยได้ดำเนินการตามขั้นตอน ดังนี้
1. การกำหนดประชากรและการเลือกกลุ่มตัวอย่าง
2. การสร้างเครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย
3. การเก็บรวบรวมข้อมูล
4. การจัดกระทำและการวิเคราะห์ข้อมูล

การกำหนดกลุ่มประชากรและกลุ่มตัวอย่างประชากร
ประชากรที่ใช้ในการศึกษาครั้งนี้ เป็นนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 - 6 ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2548 สังกัดคณะกรรมการการศึกษากระทรวงขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ ในเขตกรุงเทพมหานคร ซึ่งมีจำนวนโรงเรียนทั้งสิ้น 115 โรงเรียน มีนักเรียนกำลังศึกษาชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 - 6 ทั้งสิ้น 272,888 คน

กลุ่มตัวอย่าง
กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการศึกษาครั้งนี้ เป็นนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 - 6 ภาคเรียน ที่ 2 ปีการศึกษา 2548 ในโรงเรียนที่จัดการศึกษาตามหลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการ เขตกรุงเทพมหานคร ซึ่งมีจำนวน 400 คน จากประชากร โดยกำหนดขนาดของกลุ่มตัวอย่างจากสูตรยามาเน่ (Taro Yamane) ด้วยความเชื่อมั่น 95 เปอร์เซ็นต์ และเพื่อให้การศึกษามีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น จึงมีการเพิ่มขนาดตัวอย่างสำหรับการศึกษาในครั้งนี้เป็น 450 คน ซึ่งกลุ่มตัวอย่างที่ได้มาโดยวิธีการสุ่มแบบหลายขั้นตอน (Multistage Random Sampling) โดยมีขั้นตอนดังนี้

ขั้นตอนการสุ่ม
1. ใช้การสุ่มแบบชั้นภูมิ (Stratified Random Sampling) โดยการแบ่งชั้นภูมิตาม ประเภทโรงเรียน 3 ประเภท คือ
- โรงเรียนสหศึกษา 93 โรงเรียน
- โรงเรียนชายล้วน 11 โรงเรียน
- โรงเรียนหญิงล้วน 11 โรงเรียน

2. ใช้การสุ่มอย่างง่าย (Simple Random Sampling) โดยสุ่มโดยวิธีการจับฉลาก จากชั้นภูมิที่ได้แบ่งไว้มาชั้นภูมิละ 1 โรงเรียนและได้แบ่งสัดส่วนจำนวนนักเรียนให้เท่ากันทั้ง 3 โรงเรียน ได้ผลการสุ่มดังนี้
- นักเรียนจากโรงเรียนสหศึกษา โรงเรียนบางมดวิทยา จำนวน 150 คน
- นักเรียนจากโรงเรียนชายล้วน โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย จำนวน 150 คน
- นักเรียนจากโรงเรียนหญิงล้วน โรงเรียนศึกษานารี จำนวน 150 คน
หลังจากนั้นทำการสุ่มห้อง และนักเรียน ด้วยการสุ่มอย่างง่าย (Simple Random Sampling) อีกครั้งหนึ่ง

การสร้างเครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย
เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษาค้นคว้า
เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษาครั้งนี้ แบ่งออกเป็น 4 ตอน ดังนี้
ตอนที่ 1 แบบสอบถามข้อมูลส่วนตัว
ตอนที่ 2 แบบสอบถามเจตคติในการคบเพื่อนต่างเพศ
ตอนที่ 3 แบบสอบถามสัมพันธภาพระหว่างนักเรียนกับผู้ปกครอง
ตอนที่ 4 แบบสอบถามสัมพันธภาพระหว่างนักเรียนกับเพื่อน

ตอนที่ 1 แบบสอบถามข้อมูลส่วนตัว มีขั้นตอนการสร้าง ดังนี้
_1.1 ผู้วิจัยศึกษาเอกสาร และงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับเจตคติในการคบเพื่อนต่างเพศ
_1.2 ผู้วิจัยสร้างแบบสอบถามด้านข้อมูลส่วนตัว โดยสร้างข้อคำถามให้สอดคล้องกับนิยามศัพท์เฉพาะและความมุ่งหมายของงานวิจัย
_1.3 ผู้วิจัยนำแบบสอบถามข้อมูลส่วนตัวจำนวน 4 ข้อ ที่ได้ปรับปรุงแก้ไขตามข้อเสนอแนะของผู้เชี่ยวชาญไปทดลองใช้ (Try-out) กับนักเรียน... จำนวน 30 คน จากนั้นนำมาหาข้อบกพร่อง และปรับปรุงข้อคำถามให้เหมาะสมกับกลุ่มตัวอย่างมากขึ้น

ตอนที่ 2 แบบสอบถามเจตคติในการคบเพื่อนต่างเพศ มีขั้นตอนการสร้าง ดังนี้
_2.1 ผู้วิจัยศึกษา เอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับเจตคติในการคบเพื่อนต่างเพศ
_2.2 ผู้วิจัยศึกษาแบบสอบถามเจตคติในการคบเพื่อนต่างเพศ ของ หทัยขวัญ สหชัยยันต์(2548 : 109-113)
_2.3 ผู้วิจัยปรับปรุงแบบสอบถามเจตคติในการคบเพื่อนต่างเพศ ที่ได้ศึกษาความรู้ตามข้อ 2.1 และข้อ 2.2 เป็นแบบสอบถามประมาณค่า (Rating Scale) ตามแบบของลิเคิร์ท(Likirt) มี 5 ระดับ คือ ด้านความคิด ได้แก่ เห็นด้วยอย่างยิ่ง เห็นด้วย ไม่แน่ใจ ไม่เห็นด้วย และไม่เห็นด้วยอย่างยิ่ง ด้านความรู้สึก ได้แก่ มากที่สุด มาก ปานกลาง น้อย และน้อยที่สุด ด้านแนวโน้มที่จะแสดงพฤติกรรม ได้แก่ เป็นประจำ บ่อย บ่อยครั้ง น้อยครั้ง และน้อยที่สุด

ตอนที่ 3 แบบสอบถามสัมพันธภาพระหว่างนักเรียนกับผู้ปกครอง มีขั้นตอนการสร้างดังนี้
_3.1 ผู้วิจัยศึกษา เอกสาร และงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับสัมพันธภาพระหว่างนักเรียนกับผู้ปกครอง
_3.2 ผู้วิจัยศึกษาแบบสอบถามสัมพันธภาพระหว่างนักเรียนกับผู้ปกครอง ของ หทัยขวัญ สหชัยยันต์ (2548: 117-118)
_3.3 ผู้วิจัยปรับปรุงแบบสอบถามสัมพันธภาพระหว่างนักเรียนกับผู้ปกครอง ที่ได้ศึกษาความรู้ตามข้อ 3.1 และข้อ 3.2 เป็นแบบสอบถามประมาณค่า (Rating Scale) มี 5 ระดับ ได้แก่ จริงมากที่สุด จริงมาก จริงปานกลาง จริงน้อย จริงน้อยที่สุด

เกณฑ์การแปลความหมาย (วิเชียร เกตุสิงห์.2538: 9)
คะแนนเฉลี่ย 3.67 – 5.00 หมายถึง มีสัมพันธภาพในครอบครัวดี
คะแนนเฉลี่ย 2.34 – 3.66 หมายถึง มีสัมพันธภาพในครอบครัวพอใช้
คะแนนเฉลี่ย 1.00 – 2.33 หมายถึง มีสัมพันธภาพในครอบครัวไม่ดี

ตอนที่ 4 แบบสอบถามสัมพันธภาพระหว่างนักเรียนกับเพื่อน มีขั้นตอนการสร้างดังนี้
_4.1 ผู้วิจัยศึกษา เอกสาร และงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับสัมพันธภาพระหว่างนักเรียนกับเพื่อน
_4.2 ผู้วิจัยศึกษาแบบสอบถามสัมพันธภาพระหว่างนักเรียนกับเพื่อน ของ หทัยขวัญ สหชัยยันต์ (2548: 119)
_4.3 ผู้วิจัยปรับปรุงแบบสอบถามสัมพันธภาพระหว่างนักเรียนกับเพื่อน ที่ได้ศึกษาความรู้ตามข้อ 4.1 และข้อ 4.2 เป็นแบบสอบถามประมาณค่า (Rating Scale) มี 5 ระดับ ได้แก่ จริงมากที่สุด จริงมาก จริงปานกลาง จริงน้อย จริงน้อยที่สุด

เกณฑ์การแปลความหมาย (วิเชียร เกตุสิงห์.2538:9)
คะแนนเฉลี่ย 3.67 – 5.00 หมายถึง มีสัมพันธภาพระหว่างนักเรียนกับเพื่อนดี
คะแนนเฉลี่ย 2.34 – 3.66 หมายถึง มีสัมพันธภาพระหว่างนักเรียนกับเพื่อนดีพอใช้
คะแนนเฉลี่ย 1.00 – 2.33 หมายถึง มีสัมพันธภาพระหว่างนักเรียนกับเพื่อนไม่ดี

การหาคุณภาพเครื่องมือ
1. ผู้วิจัยสร้างแบบสอบถามให้สอดคล้องกับนิยามศัพท์เฉพาะและจุดมุ่งหมาย แล้วนำไปหาความเที่ยงตรงเชิงประจักษ์ (Face Validity) โดยนำไปให้ผู้เชี่ยวชาญได้แก่อาจารย์ที่ปรึกษางานวิจัยและ กลุ่มวิจัยจำนวน 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่ม 3 กลุ่ม 4 และกลุ่ม 5 ตรวจสอบความเหมาะสมด้านเนื้อหา ภาษา และข้อคำถามให้สอดคล้องกับนิยามศัพท์เฉพาะ และนำไปปรับปรุงแก้ไขก่อนนำไปใช้

2. นำแบบสอบถามที่สร้างขึ้นมาปรับปรุงแก้ไขตามข้อเสนอแนะของผู้เชี่ยวชาญ แล้วนำไปทดลองใช้กับนักเรียน โรงเรียนศรีอยุธยา โรงเรียนเทพศิรินทร์ และ โรงเรียนสตรีวิทยา
_2.1 นำแบบสอบถามที่ทดลองใช้แล้วมาหาค่าอำนาจจำแนกเป็นรายข้อ โดยใช้เทคนิค 25% กลุ่มสูง-กลุ่มต่ำ แล้วทดสอบด้วย t-test เลือกเฉพาะค่า t ที่มีนัยสำคัญที่ระดับ .05 นำมาใช้ใน0การวิจัย ได้ผลดังนี้

ตอนที่ 2 แบบสอบถามเจตคติในการคบเพื่อนต่างเพศ เป็นแบบสอบถาม
ชนิดมาตราส่วนประมาณค่า(Rating Scale) ตามแบบของลิเคอร์ท (Likert Scale) มี 5 ระดับ จำนวน 37 ข้อ มีค่า t อยู่ระหว่าง .795 – 9.59

ตอนที่ 3 แบบสอบถามสัมพันธภาพระหว่างนักเรียนกับผู้ปกครองเป็น
แบบสอบถามชนิดมาตราส่วนประมาณค่า(Rating Scale) มี 5 ระดับ จำนวน 20 ข้อ มีค่า t อยู่ระหว่าง 1.986 – 12.021

ตอนที่4 แบบสอบถามสัมพันธภาพระหว่างนักเรียนกับเพื่อน เป็น
แบบสอบถามชนิดมาตราส่วนประมาณค่า(Rating Scale) มี 5 ระดับ จำนวน 15 ข้อ มีค่า t อยู่ระหว่าง 1.528 – 4.660

_2.2 นำแบบสอบถามที่คัดเลือกแล้วในข้อ 2.1 มาหาค่าความเชื่อมั่นของ
แบบสอบถามที่คัดเลือกไว้ เพื่อหาค่าสัมประสิทธิ์แอลฟ่า
(α - Coefficient) ของครอนบาค(Cronbach) แล้วนำมาใช้ในการวิจัย ได้ผลดังนี้

ตอนที่ 2 แบบสอบถามเจตคติในการคบเพื่อนต่างเพศ มีค่าความเชื่อมั่น
เท่ากับ .932 โดยแบ่งเป็นรายด้านดังนี้
- ด้านความคิด มีค่าความเชื่อมั่นเท่ากับ .778
- ด้านความรู้สึก มีค่าความเชื่อมั่นเท่ากับ .882
- ด้านแนวโน้มที่จะแสดงพฤติกรรม มีค่าความเชื่อมั่นเท่ากับ .843

ตอนที่ 3 แบบสอบถามสัมพันธภาพระหว่างนักเรียนกับผู้ปกครอง มีค่า
ความเชื่อมั่นเท่ากับ .918

ตอนที่ 4 แบบสอบถามสัมพันธภาพระหว่างนักเรียนกับเพื่อน มีค่าความ
เชื่อมั่นเท่ากับ .794

การเก็บรวบรวมข้อมูล
1. คณะผู้วิจัยทำหนังสือจากคณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒเพื่อนำไปขออนุญาต และขอความร่วมมือในการตอบแบบสอบถาม จากโรงเรียนบางมดวิทยา โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย และโรงเรียนศึกษานารี

2. คณะผู้วิจัยทำแบบสอบถามเจตคติในการคบเพื่อนต่างเพศไปเก็บรวบรวมข้อมูลด้วยตนเอง ที่โรงเรียนบางมดวิทยา โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย และโรงเรียนศึกษานารี จำนวน 450 ฉบับ ได้รับคืนมาครบทุกฉบับ

3. คณะผู้วิจัยนำแบบสอบถามที่นักเรียนตอบมาคัดเลือกเฉพาะแบบสอบถามที่สมบูรณ์ คือตอบคำถามครบทุกข้อ ปรากฏว่าสมบูรณ์ทุกฉบับ จึงนำมาให้คะแนนตามเกณฑ์ที่กำหนด จากนั้นจึงนำมาวิเคราะห์ข้อมูลทางสถิติ เพื่อทดสอบสมมติฐาน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น