วันพฤหัสบดีที่ 15 เมษายน พ.ศ. 2553

ความมุ่งหมายและสมมติฐาน

ความมุ่งหมายและสมมติฐาน

ความมุ่งหมายของการวิจัย
ในการวิจัยครั้งนี้ผู้วิจัยได้ตั้งความมุ่งหมายไว้ดังนี้
1. เพื่อศึกษาเจตคติต่อการคบเพื่อนต่างเพศของนักเรียนมัธยมศึกษา
2. เพื่อศึกษาเปรียบเทียบระหว่างปัจจัยทางชีวสังคมกับเจตคติต่อการคบเพื่อนต่างเพศของนักเรียนมัธยมศึกษา
3. เพื่อศึกษาปัจจัยทางชีวสังคมที่มีอิทธิพลต่อเจตคติต่อในการคบเพื่อนต่างเพศของนักเรียนมัธยมศึกษาเพศชายและเพศหญิง

ความสำคัญของการวิจัย
ผลจากการศึกษาในครั้งนี้ จะทำให้ทราบเจตคติต่อการคบเพื่อนต่างเพศของนักเรียนมัธยมศึกษาปีที่ 1-6 ในเขตกรุงเทพมหานคร และเพื่อเป็นประโยชน์ต่อครู อาจารย์แนะแนว พ่อแม่และผู้ปกครอง ตลอดจนผู้ที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำข้อมูลที่ได้ไปประกอบการวางแผนพัฒนาเจตคติต่อการคบเพื่อนต่างเพศของนักเรียนมัธยมศึกษาปีที่ 1-6 ได้ดียิ่งขึ้น

นิยามศัพท์เฉพาะ
1. นักเรียนมัธยมศึกษา หมายถึง นักเรียนที่กำลังศึกษาอยู่ในชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1-6 ทั้งเพศชายและเพศหญิง ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2548 ในโรงเรียนที่จัดการศึกษาตามหลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการ ในเขตกรุงเทพมหานคร โดยแบ่งเป็นโรงเรียนสหศึกษา และโรงเรียนเอกเพศ ซึ่งได้แก่ โรงเรียนชายล้วน โรงเรียนหญิงล้วน
2. ช่องว่างระหว่างวัย หมายถึง ความแตกต่างกันระหว่างอายุของพ่อแม่กับลูก ซึ่งส่งผลต่อทัศนคติ และค่านิยมที่แตกต่างกัน ทำให้เกิดผลกระทบต่อการอบรมสั่งสอน และการถ่ายทอดทางวัฒนธรรม
3. อิทธิพลจากสื่อเกี่ยวกับการคบเพื่อนต่างเพศ หมายถึง การรับรู้ข้อมูลข่าวสารจากสื่อต่าง ๆ ที่ทำให้เกิดการเลียนแบบ หรือปฏิบัติตามเกี่ยวกับการคบเพื่อนต่างเพศ แบ่งออกได้ดังนี้
1 วิทยุ
2 โทรทัศน์
3 วีดิทัศน์
4 สิ่งตีพิมพ์
5 อินเตอร์เน็ต

นิยามปฏิบัติการ
1. เจตคติต่อการคบเพื่อนต่างเพศ หมายถึง ความคิด ความรู้สึก และแนวโน้มในการแสดงพฤติกรรมของนักเรียนที่มีต่อการคบเพื่อนต่างเพศ ได้แก่ การคบกันในฐานะเพื่อน การมีนัด การปฏิบัติตนเมื่อสนิทสนมขั้นเป็นคู่รัก ซึ่งแบ่งออกเป็น 3 ด้าน ได้แก่
1 เจตคติด้านความคิด
2 เจตคติด้านความรู้สึก
3 เจตคติด้านแนวโน้มในการแสดงพฤติกรรม

ตัวแปรนี้วัดโดยแบบสอบถามวัดเจตคติต่อการคบเพื่อนต่างเพศ ซึ่งกลุ่มผู้วิจัยได้ปรับปรุงมาจากแบบสอบถามเจตคติต่อการคบเพื่อนต่างเพศของ หทัยขวัญ สหชัยยันต์ (2548: 108-113) ซึ่งเป็นแบบสอบถามชนิดมาตราส่วนประเมินค่า (Rating Scale) 5 ระดับ โดยแบบสอบถามแบ่งออกเป็น 3 ด้าน คือ ด้านความคิด จาก “เห็นด้วยอย่างยิ่ง” ถึง “ไม่เห็นด้วยอย่างยิ่ง” ด้านความรู้สึก จาก “มากที่สุด” ถึง “น้อยที่สุด” และด้านแนวโน้มที่จะแสดงพฤติกรรม จาก “เป็นประจำ” ถึง “น้อยครั้งที่สุด” มีจำนวน 36 ข้อ คะแนนจึงมีพิสัยระหว่าง 36-180 คะแนน ผู้ที่ตอบ “เห็นด้วยอย่างยิ่ง” “มากที่สุด” “เป็นประจำ” ในข้อที่แสดงถึงเจตคติทางบวก จะได้คะแนนสูง ซึ่งหมายถึง เป็นผู้ที่มีความคิด ความรู้สึกเห็นด้วย และมีแนวโน้มในการแสดงพฤติกรรม ในลักษณะสามารถถูกเนื้อต้องตัว นัดเที่ยวสังสรรค์ และแสดงออกว่าเป็นคู่รักอย่างเปิดเผยกับเพศตรงข้าม ส่วนผู้ตอบ “เห็นด้วยอย่างยิ่ง” “มากที่สุด” “เป็นประจำ” ในข้อที่แสดงถึงเจตคติทางลบจะได้คะแนนต่ำ ซึ่งหมายถึงเป็นผู้ที่มีความคิด ความรู้สึกไม่เห็นด้วย และมีแนวโน้มที่จะไม่แสดงพฤติกรรมในลักษณะสามารถถูกเนื้อต้องตัว นัดเที่ยวสังสรรค์ และแสดงออกว่าเป็นคู่รักอย่างเปิดเผยกับเพศตรงข้าม ในกรณีแบ่งผู้ตอบเป็น 3 กลุ่ม คือ ผู้ที่มีคะแนนเฉลี่ย 3.67-5.00 หมายถึง มีเจตคติทางบวกต่อการคบเพื่อนต่างเพศ ผู้ที่มีคะแนนเฉลี่ย 2.34-3.66 หมายถึง มีเจตคติปานกลางต่อการคบเพื่อนต่างเพศ และผู้ที่มีคะแนนเฉลี่ย 1.00-2.33 หมายถึง มีเจตคติทางลบต่อการคบเพื่อนต่างเพศ

2. สัมพันธภาพระหว่างนักเรียนกับผู้ปกครอง หมายถึง การปฏิบัติตนของบิดามารดา หรือผู้ปกครองต่อนักเรียน และการปฏิบัติตนของนักเรียนต่อบิดามารดาหรือผู้ปกครอง เพื่อให้เกิดความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันและกัน ดังนี้
_2.1 การปฏิบัติตนของบิดามารดา หรือผู้ปกครองต่อนักเรียน ได้แก่ การให้ความรัก ความอบอุ่น การเอาใจใส่ การดูแลสุขภาพ อบรมสั่งสอน รวมทั้งเป็นที่ปรึกษาทั้งเรื่องส่วนตัวและเรื่องของการศึกษา
_2.2 การปฏิบัติตนของนักเรียนต่อบิดามารดาหรือผู้ปกครอง ได้แก่ การเชื่อฟังการอบรมสั่งสอนทั้งทางด้านการใช้ชีวิตส่วนตัว การเงิน การเรียน การให้ความรัก ความห่วงใย และช่วยเหลืองานในครอบครัว

ตัวแปรนี้วัดโดยแบบสอบถามวัดสัมพันธภาพระหว่างนักเรียนกับผู้ปกครอง ซึ่งกลุ่มผู้วิจัยได้ปรับปรุงมาจากแบบสอบถามสัมพันธภาพระหว่างนักเรียนกับผู้ปกครองของ หทัยขวัญ สหชัยยันต์ (2548: 117-118) ซึ่งเป็นแบบสอบถามชนิดมาตราส่วนประเมินค่า (Rating Scale) 5 ระดับ จาก “จริงที่สุด” ถึง “จริงน้อยที่สุด” มีจำนวน16 ข้อ คะแนนจึงมีพิสัยระหว่าง 16-80 คะแนน ผู้ที่ตอบ “จริงที่สุด” ในข้อที่แสดงถึงสัมพันธภาพทางบวก จะได้คะแนนสูง ส่วนผู้ตอบ “จริงที่สุด” ในข้อที่แสดงถึงสัมพันธภาพทางลบจะได้คะแนนต่ำ ในกรณีแบ่งผู้ตอบเป็น 3 กลุ่ม คือ ผู้ที่มีคะแนนเฉลี่ย 3.67-5.00 หมายถึง มีสัมพันธภาพในครอบครัวดี ผู้ที่มีคะแนนเฉลี่ย 2.34-3.66 หมายถึง มีสัมพันธภาพในครอบครัวพอใช้ และผู้ที่มีคะแนนเฉลี่ย 1.00-2.33 หมายถึง มีสัมพันธภาพในครอบครัวไม่ดี

3. สัมพันธภาพระหว่างนักเรียนกับเพื่อน หมายถึง การปฏิบัติตนของนักเรียนและเพื่อนที่มีต่อกันทั้งในและนอกห้องเรียน ได้แก่ การช่วยเหลือพึ่งพาอาศัยกัน การแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในด้านการเรียน การห่วงใยใกล้ชิดสนิทสนมซึ่งกันและกัน การสนทนาในเรื่องส่วนตัว และทำกิจกรรมต่าง ๆร่วมกัน

ตัวแปรนี้วัดโดยแบบสอบถามวัดสัมพันธภาพระหว่างนักเรียนกับเพื่อน ซึ่งกลุ่มผู้วิจัยได้ปรับปรุงมาจากแบบสอบถามสัมพันธภาพระหว่างนักเรียนกับเพื่อนของ หทัยขวัญ สหชัย-ยันต์ (2548: 119) ซึ่งเป็นแบบสอบถามชนิดมาตราส่วนประเมินค่า (Rating Scale) 5 ระดับ จาก “จริงที่สุด” ถึง “จริงน้อยที่สุด” มีจำนวน 12 ข้อ คะแนนจึงมีพิสัยระหว่าง 12-60 คะแนน ผู้ที่ตอบ “จริงที่สุด” ในข้อที่แสดงถึงสัมพันธภาพทางบวก จะได้คะแนนสูง ส่วนผู้ตอบ “จริงที่สุด” ในข้อที่แสดงถึงสัมพันธภาพทางลบจะได้คะแนนต่ำ ในกรณีแบ่งผู้ตอบเป็น 3 กลุ่ม คือ ผู้ที่มีคะแนนเฉลี่ย 3.67-5.00 หมายถึง มีสัมพันธภาพระหว่างนักเรียนกับเพื่อนดี ผู้ที่มีคะแนนเฉลี่ย 2.34-3.66 หมายถึง มีสัมพันธภาพระหว่างนักเรียนกับเพื่อนพอใช้ และผู้ที่มีคะแนนเฉลี่ย 1.00-2.33 หมายถึง มีสัมพันธภาพระหว่างนักเรียนกับเพื่อนไม่ดี

สมมติฐานในการวิจัย
1. เพศชายมีเจตคติในการคบเพื่อนต่างเพศสูงกว่าเพศหญิง

2. นักเรียนที่ศึกษาในระดับชั้นเรียนที่แตกต่างกัน มีเจตคติในการคบเพื่อนต่างเพศแตกต่างกัน

3. นักเรียนที่ศึกษาในโรงเรียนชายล้วนมีเจตคติในการคบเพื่อนต่างเพศสูงสุด

4. ช่องว่างระหว่างวัยน้อย มีเจตคติในการคบเพื่อนต่างเพศสูงสุด

5. กลุ่มที่มีสัมพันธภาพระหว่างนักเรียนกับผู้ปกครองสูง จะมีเจตคติในการคบเพื่อนต่างเพศสูงกว่ากลุ่มอื่นๆ

6. กลุ่มที่มีสัมพันธภาพระหว่างนักเรียนกับเพื่อนสูง จะมีเจตคติในการคบเพื่อนต่างเพศสูงกว่ากลุ่มอื่นๆ

7. อิทธิพลจากสื่อที่แตกต่างกัน จะมีเจตคติในการคบเพื่อนต่างเพศแตกต่างกัน

8. ปัจจัยทางชีวสังคมร่วมกันทำนายเจตคติในการคบเพื่อนต่างเพศของนักเรียนมัธยมศึกษาเพศชายได้

9. ปัจจัยทางชีวสังคมสามารถทำนายเจตคติในการคบเพื่อนต่างเพศของนักเรียนมัธยมศึกษาเพศชายได้

10. ปัจจัยทางชีวสังคมร่วมกันทำนายเจตคติในการคบเพื่อนต่างเพศของนักเรียน มัธยมศึกษาเพศหญิงได้

11. ปัจจัยทางชีวสังคมสามารถทำนายเจตคติในการคบเพื่อนต่างเพศของนักเรียน มัธยมศึกษาเพศหญิงได้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น