วันพฤหัสบดีที่ 15 เมษายน พ.ศ. 2553

บทคัดย่อ

ณรงค์รักษ์ ต่อศรีเจริญ วามดา จินดามาตย์ อภิญญา สุวลีรัตน์ ยาใจ เพชรสงฆ์ ฏิฎะณัฐ อิงคุลานนท์ และกิตติศักดิ์ จิตรภักดี. (2549). ปัจจัยทางชีวสังคมที่มีอิทธิพลต่อเจตคติในการคบเพื่อนต่างเพศของนักเรียนมัธยมศึกษาในเขตกรุงเทพมหานคร. รายงานการวิจัย วท.บ. (จิตวิทยา). กรุงเทพฯ: ภาควิชาจิตวิทยา คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ. อาจารย์ที่ปรึกษา: อาจารย์ ดร.เรวดี ทรงเที่ยง

งานวิจัยนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อศึกษาเจตคติต่อการคบเพื่อนต่างเพศของนักเรียนมัธยมศึกษาศึกษาเปรียบเทียบระหว่างปัจจัยทางชีวสังคมกับเจตคติต่อการคบเพื่อนต่างเพศของนักเรียนมัธยมศึกษา และเพื่อศึกษาปัจจัยทางชีวสังคมที่มีอิทธิพลต่อเจตคติต่อในการคบเพื่อนต่างเพศของนักเรียนมัธยมศึกษาเพศชายและเพศหญิง

งานวิจัยครั้งนี้เป็นงานวิจัยเชิงเปรียบเทียบและพยากรณ์ กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการศึกษาค้นคว้าครั้งนี้ เป็นนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1-6 จำนวน 450 คน ซึ่งได้จากการสุ่มแบบหลายขั้นตอน (Multistage Random Sampling) จากโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย จำนวน 150 คน โรงเรียนศึกษานารี จำนวน 150 คน และจากโรงเรียนบางมดวิทยา จำนวน 150 คน

เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษาค้นคว้าครั้งนี้ เป็นแบบสอบถามข้อมูลส่วนตัว แบบสอบถามเจตคติในการคบเพื่อนต่างเพศ แบบสอบถามสัมพันธภาพระหว่างนักเรียนกับผู้ปกครอง และแบบสอบถามสัมพันธภาพระหว่างนักเรียนกับเพื่อน

สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล คือ ค่าความถี่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ค่าความเบี่ยงเบนมาตรฐาน ทดสอบค่าที (t-test) ทดสอบค่าเอฟ (F-test) หรือการวิเคราะห์ความแปรปรวนทางเดียว (One Way Analysis of Variance) การวิเคราะห์ถดถอยพหุคูณแบบเพิ่มและลดตัวแปรเป็นขั้นๆ (Stepwise Multiple Regression Analysis) และใช้การวิเคราะห์ถดถอยพหุคูณแบบนำตัวแปรเข้าทั้งหมด (Enter Multiple Regression Analysis)

ผลการศึกษา สรุปได้ดังนี้
1. นักเรียนมัธยมศึกษาเพศชายมีเจตคติในการคบเพื่อนต่างเพศสูงกว่าเพศหญิง อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05

2. นักเรียนที่ศึกษาในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1-6 มีเจตคติในการคบเพื่อนต่างเพศแตกต่างกัน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05

3. นักเรียนมัธยมศึกษาที่ศึกษาในโรงเรียนชายล้วน มีเจตคติในการคบเพื่อนต่างเพศสูงกว่า นักเรียนมัธยมศึกษาที่ศึกษาในโรงเรียนหญิงล้วนและโรงเรียนสหศึกษา และนักเรียนมัธยมศึกษาที่ศึกษาในโรงเรียน สหศึกษา มีเจตคติในการคบเพื่อนต่างเพศสูงกว่า นักเรียนมัธยมศึกษาที่ศึกษาในโรงเรียนหญิงล้วน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05

4. นักเรียนมัธยมศึกษาที่มีช่องว่างระหว่างวัยกับผู้ปกครองในระดับ มาก ปานกลาง และน้อย มีเจตคติในการคบเพื่อนต่างเพศไม่แตกต่างกัน

5. นักเรียนมัธยมศึกษาที่มีสัมพันธภาพระหว่างนักเรียนกับผู้ปกครองในระดับปานกลางมีเจตคติในการคบเพื่อนต่างเพศสูงกว่านักเรียนมัธยมศึกษาที่มีสัมพันธภาพระหว่างนักเรียนกับผู้ปกครองในระดับสูงและต่ำ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05

6. นักเรียนมัธยมศึกษาที่มีสัมพันธภาพระหว่างนักเรียนกับเพื่อนในระดับสูง ปานกลาง และต่ำ มีเจตคติในการคบเพื่อนต่างเพศไม่แตกต่างกัน

7. นักเรียนมัธยมศึกษาที่รับสื่อ วิทยุ โทรทัศน์ วีดิทัศน์ สื่อสิ่งพิมพ์ และอินเตอร์เน็ต มีเจตคติในการคบเพื่อนต่างเพศแตกต่างกัน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05

8. ปัจจัยทางชีวสังคมร่วมกันทำนายเจตคติในการคบเพื่อนต่างเพศของนักเรียนมัธยมศึกษาเพศชาย ได้ร้อยละ 37.3 อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05

9. ปัจจัยที่สามารถพยากรณ์เจตคติในการคบเพื่อนต่างเพศของนักเรียนมัธยมศึกษาเพศชาย มี 4 ปัจจัยโดยเรียงลำดับจากตัวแปรที่ส่งผลมากที่สุดไปหาน้อยที่สุด ได้แก่ ระดับชั้น สื่อโทรทัศน์ สัมพันธภาพระหว่างนักเรียนกับเพื่อน และสัมพันธภาพระหว่างนักเรียนกับผู้ปกครอง ซึ่งปัจจัยทั้ง 4 ปัจจัยนี้สามารถร่วมกันพยากรณ์เจตคติในการคบเพื่อนต่างเพศของนักเรียนมัธยมศึกษาเพศชาย ได้ร้อยละ 36.2 อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 และนำค่าสัมประสิทธิ์ของตัวพยากรณ์เขียนเป็นสมการได้ดังนี้
สมการพยากรณ์เจตคติในการคบเพื่อนต่างเพศของนักเรียนมัธยมศึกษาเพศชาย โดยใช้คะแนนดิบได้แก่
^
Y = 2.20 +.13(GR) + .26(MD4) + .23(FR) - .23(PR)

สมการพยากรณ์เจตคติในการคบเพื่อนต่างเพศของนักเรียนมัธยมศึกษาเพศชาย โดยใช้คะแนนมาตรฐาน ได้แก่
Z = .40(GR) + .22(MD4) + .24(FR) - .23(PR)

10. ปัจจัยทางชีวสังคมร่วมกันทำนายเจตคติในการคบเพื่อนต่างเพศของนักเรียนมัธยมศึกษาเพศหญิง ได้ร้อยละ 36.3 อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05

11. ปัจจัยที่สามารถพยากรณ์เจตคติในการคบเพื่อนต่างเพศของนักเรียนมัธยมศึกษาเพศหญิง มี 3 ปัจจัย โดยเรียงลำดับจากตัวแปรที่ส่งผลมากที่สุดไปหาน้อยที่สุด ได้แก่ สัมพันธภาพระหว่างนักเรียนกับผู้ปกครอง ระดับชั้น และโรงเรียนสหศึกษา ซึ่งปัจจัยทั้ง 3 ปัจจัยนี้สามารถร่วมกันพยากรณ์เจตคติในการคบเพื่อนต่างเพศของนักเรียนมัธยมศึกษาเพศหญิง ได้ร้อยละ 34 อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 และนำค่าสัมประสิทธิ์ของตัวพยากรณ์ เขียนเป็นสมการได้ดังนี้
สมการพยากรณ์เจตคติในการคบเพื่อนต่างเพศของนักเรียนมัธยมศึกษาเพศหญิง โดยใช้คะแนนดิบ ได้แก่
^
Y = 3.23 - .27(PR) +.10(GR) -.27(SC1)

สมการพยากรณ์เจตคติในการคบเพื่อนต่างเพศของนักเรียนมัธยมศึกษาเพศหญิง โดยใช้คะแนนมาตรฐาน ได้แก่
Z = -.34(PR) + .32(GR) - .25(SC1)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น