วันพฤหัสบดีที่ 15 เมษายน พ.ศ. 2553

ข้อเสนอแนะ

ข้อเสนอแนะ

1. ข้อเสนอแนะทั่วไป

_1.1 ผู้ปกครอง ครูอาจารย์ ผู้บริหารโรงเรียน สื่อมวลชน และบุคคลที่เกี่ยวข้องกับวัยรุ่น ควรให้ความสำคัญกับการเสริมสร้างเจตคติในการคบเพื่อนต่างเพศที่เหมาะสม ได้แก่ วัยรุ่นชายและหญิง เพื่อเป็นการปลูกฝังค่านิยมที่เหมาะสมกับวัฒนธรรมประเพณีของไทย

_1.2 การจัดวางหลักสูตรการเรียนการสอนที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับเพศศึกษา ในสาขาวิชาต่าง ๆ ควรจัดแผนการสอนให้เหมาะสมกับธรรมชาติ และพัฒนาการของวัยรุ่นในแต่ละระดับชั้น และในแต่ละโรงเรียนควรจัดกิจกรรมที่เปิดโอกาสให้นักเรียนได้แสดงออกถึงบทบาททางเพศของตน เพื่อให้เกิดให้นักเรียนเกิดแนวทางในการวางตัวที่เหมาะสมในสังคมต่อไป

_1.3 ผู้ปกครองและสมาชิกในครอบครัวควรเข้าใจพัฒนาการของวัยรุ่นและส่งเสริมให้เด็กมีอิสระในการเลือกคบเพื่อนต่างเพศที่เหมาะสม ผู้ปกครองควรให้ความช่วยเหลือ และเป็นที่ปรึกษาในด้านต่าง ๆ อีกทั้ง สมาชิกในครอบครัวควรมีเวลาในการทำกิจกรรมร่วมกัน เพื่อเสริมสร้างสัมพันธภาพและความเข้าใจที่ดีให้เกิดขึ้นในครอบครัว

_1.4 วัยรุ่นเป็นวัยที่ให้ความสำคัญกับเพื่อนมาก ดังนั้น ผู้ปกครองและครูอาจารย์ ควรให้ความสำคัญกับการเลือกคบเพื่อนทั้งเพศเดียวกันและเพื่อนต่างเพศของเด็ก รวมทั้งให้คำแนะนำในการวางตัว และการเลือกคบเพื่อน เพื่อป้องกันปัญหาต่าง ๆ ที่จะเกิดตามมาจากการคบเพื่อนที่ไม่ดี

_1.5 สื่อมวลชนทุกแขนง ควรมีจรรยาบรรณในการเผยแพร่เรื่องราวต่าง ๆ เพราะวัยรุ่นเป็นวัยที่มีความอยากรู้อยากเห็นและคล้อยตามได้ง่าย ทำให้อาจจะเกิดการเลียนแบบในพฤติกรรมทางเพศที่ไม่เหมาะสม โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากสื่อวีดิทัศน์ สื่อโทรทัศน์ และสื่ออินเตอร์เนต ที่ในปัจจุบัน เป็นสื่อที่วัยรุ่นเปิดรับและสามารถเข้าถึงได้โดยง่าย ดังนั้นทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ควรสอดส่องดูแล และให้คำแนะนำที่เหมาะสมกับวัยรุ่น

2. ข้อเสนอแนะในการวิจัยครั้งต่อไป

_2.1 ควรมีการศึกษาทำนองเดียวกันนี้ในกลุ่มประชากรอื่นๆ เช่น นักเรียนในสังกัดกรมอาชีวศึกษา สังกัดกรมการศึกษา สังกัดกรมการศึกษาเอกชน นิสิต นักศึกษา ระดับอุดมศึกษา หรือขยายพื้นที่สำหรับการเก็บข้อมูลตามจังหวัดที่เป็นตัวแทนภาคต่างๆ เพื่อให้ผลการวิจัยครอบคลุมทั่วประเทศมากขึ้น

_2.2 ควรศึกษาปัจจัยอื่นๆ ที่มีอิทธิพลต่อเจตคติในการคบเพื่อนต่างเพศเพิ่มเติม เช่น เปรียบเทียบนักเรียนสายสามัญกับนักเรียนสายอาชีพ ศึกษาเชาน์ปัญญา ปรีชาเชิงอารมณ์ ลักษณะการอบรมเลี้ยงดูของผู้ปกครอง ฐานะทางเศรษฐกิจ เป็นต้น

_2.3 ควรมีการเลือกใช้เครื่องมือในการวิจัยหลายวิธีร่วมกัน เช่น การสัมภาษณ์ การเขียนรายงานตนเอง (Self - Report) เป็นต้น

อภิปรายผลการวิจัย

อภิปรายผลการวิจัย

1. ผลการศึกษาเจตคติในการคบเพื่อนต่างเพศของนักเรียนมัธยมศึกษา พบว่า เจตคติในการคบเพื่อนต่างเพศของนักเรียนมัธยมศึกษาทั้ง 3 ด้าน คือ ด้านความคิด ด้านความรู้สึก และด้านแนวโน้มในการแสดงพฤติกรรม อยู่ในระดับปานกลาง มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 2.60 ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการปรับตัวทางสังคมด้านเพศสัมพันธ์ของวัยรุ่น ที่ออกนอกกรอบจารีตประเพณีไทยมากขึ้น และถือเป็นเรื่องปกติที่จะประพฤติปฏิบัติ เพราะวันรุ่นเป็นวัยที่ต้องการความสนใจจากเพศตรงข้ามอันเป็นสัญชาตญาณทางเพศอย่างหนึ่ง โดยแท้จริงแล้วสัญชาตญาณทางเพศ มิได้ หมายถึง ความต้องการทางเพศแต่อย่างเดียวเท่านั้น การต้องการความสนใจ การวางตัว ความรักจากเพศตรงข้ามก็เป็นส่วนหนึ่ง(วันทนีย์ วาสิกะสิน. 2526) นอกจากนี้วัฒนธรรมตะวันตกที่เข้ามาในประเทศไทย จากสื่อต่าง ๆ เช่น อินเตอร์เน็ต ภาพยนตร์ ข่าวสาร ข่าวบันเทิงจากต่างประเทศ ฯลฯ สิ่งเหล่านี้มีอิทธิพลต่อความเชื่อ ค่านิยม และทัศนคติ ของวัยรุ่นไทย ทำให้พฤติกรรมและทัศนคติของวัยรุ่นไทยเป็นแบบวัฒนธรรมตะวันตกมากขึ้น (ทับทิม ตรีเจริญ. 2546) แต่ทั้งนี้สังคมไทยยังนิยมให้เยาวชนประพฤติปฏิบัติในกรอบของวัฒนธรรม ประเพณี จึงทำให้วัยรุ่นมีความกังวลใจที่จะประพฤติปฏิบัติตามกระแสวัฒนธรรมที่เปลี่ยนไป กลัวปัญหาที่จะเกิดขึ้นในการมีพฤติกรรมทางเพศที่ไม่เหมาะสม(รัตนา พุ่มสวรรค์. 2544) เช่น การโอบกอดกันในที่สาธารณะ การไปไหนมาไหนกับผู้ชายโดยไม่บอกผู้ปกครอง หรือแม้กระทั่งหญิง-ชาย ที่เปลี่ยนคู่เป็นประจำหรือชอบเที่ยวกับเพศตรงข้ามมากหน้าหลายตา แม้ว่าสื่อมวลชนจะเผยแพร่พฤติกรรมทางเพศจากประเทศในโลกตะวันตกเป็นอย่างมากก็ตาม จึงทำให้วันรุ่นมีเจตคติในการคบเพื่อนต่างเพศในระดับปานกลาง ซึ่งสอดคล้องกับการศึกษาอยู่ในศูนย์การศึกษานอนโรงเรียนในเขตชุมชนหนึ่งของภาคกลาง พบว่า ระดับค่านิยมอยู่ในระดับปานกลาง และสอดคล้องกับงานวิจัยของผกาพันธ์ ชนะภัย(2525) ศึกษาเกี่ยวกับเจตคติในการคบเพื่อนต่างเพศของนักเรียนหญิงพบว่า เจตคติทางเพศของนักเรียนอยู่ในระดับปานกลางและเห็นว่าการคบเพื่อนต่างเพศเป็นเรื่องธรรมดา

2. เปรียบเทียบปัจจัยด้านเพศ ระดับชั้น สัมพันธภาพระหว่างนักเรียนกับ
ผู้ปกครอง ช่องว่างระหว่างวัย สัมพันธภาพระหว่างนักเรียนกับเพื่อน ประเภทโรงเรียน และอิทธิพลจากสื่อเกี่ยวกับการคบเพื่อนต่างเพศ กับเจตคติในการคบเพื่อนต่างเพศของนักเรียนมัธยมศึกษา อภิปรายผลได้ดังนี้

_2.1 เพศ เพศชายมีเจตคติในการคบเพื่อนต่างเพศสูงกว่าเพศหญิงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 การที่ผลการวิจัยเป็นเช่นนี้อาจเนื่องมาจากสังคมกำหนดบทบาทของผู้หญิงให้อยู่ในกรอบประเพณีที่ดีงาม รักนวลสงวนตัว มีความเรียบร้อยสงบเสงี่ยมในการวางตัว ไม่ประพฤติเสียหายในเรื่องเพศจึงทำให้นักเรียนเพศหญิงมีการแสดงออกต่อเพศตรงข้ามอยู่ในระดับน้อยกว่าเพศชาย(ทวีศักดิ์ ถิระบัญชาศักดิ์. 2543 : 2) ซึ่งกล่าวได้ว่าเพศชาย มีความคิดและความรู้สึกที่ดีต่อการคบเพื่อนต่างเพศ รวมถึงมีการวางตัวและการแสดงพฤติกรรมต่อเพศตรงข้ามได้มากกว่าเพศหญิงการศึกษาครั้งนี้สอดคล้องกับ อนุรักษ์ นิติรัช (2525) ที่ศึกษาความคิดเห็นเกี่ยวกับการคบเพื่อนต่างเพศ การเลือกคู่ครอง การสมรส และการหย่าร้างของนักศึกษาวิทยาลัยครูภาคตะวันตก พบว่า เพศชายมีเสรีภาพในการปฏิบัติตนในการคบเพื่อนต่างเพศมากกว่าเพศหญิงในแทบทุกด้าน เช่น การแสดงออกก่อน การออกเที่ยวกลางคืน การออกไปเที่ยวกับเพื่อนต่างเพศตามลำพัง รวมไปถึงการมีความสัมพันธ์ทางเพศ และได้ศึกษาค่านิยมในการคบเพื่อนต่างเพศ สอดคล้องกับ วาทิต อุตอามาตย์ (2524) ที่ได้ศึกษาค่านิยมเกี่ยวกับการสมรสของนักเรียนมัธยมศึกษาตอนปลายในเขตกรุงเทพมหานคร พบว่า เพศชายมีค่านิยมในการคบเพื่อนต่างเพศสูงกว่าเพศหญิง และจิระ จึงเจริญศิลป์ (2523) ได้ศึกษาค่านิยมในการคบเพื่อนต่างเพศของเด็กวัยรุ่นในแหล่งเสื่อมโทรมคลองเตย พบว่าเด็กวัยรุ่นชายมีความรู้สึกเสรีในการปฏิบัติตนในการคบเพื่อนต่างเพศมากกว่าเด็กวัยรุ่นหญิง

_2.2 ระดับชั้น นักเรียนที่ศึกษาในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1-6 มีเจตคติในการคบเพื่อนต่างเพศ แตกต่างกัน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 โดยนักเรียนที่ศึกษาในระดับชั้นเรียนที่สูงขึ้น จะมีเจตคติในการคบเพื่อนต่างเพศสูงขึ้นตามไปด้วย ทั้งนี้เนื่องจาก นักเรียนมัธยมศึกษาที่ศึกษาในระดับชั้นเรียนที่สูงขึ้น จะผ่านการเรียนการสอนวิชาเพศศึกษาที่ให้ความรู้ความเข้าใจ และมีเนื้อหาที่ละเอียด ลึกซึ้งในเรื่องเพศศึกษามามากกว่า รวมถึงผ่านการปรับตัวต่อสถานการณ์เกี่ยวกับการคบเพื่อนต่างเพศมาตั้งแต่ชั้นประถมศึกษา มัธยมศึกษาตอนต้น จนถึงชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย และอธิบายได้จาก ทฤษฎีพัฒนาการ ความรู้ความเข้าใจของ Piaget ที่กล่าวว่า การพัฒนาการทางสติปัญญานั้นเป็นการปรับพฤติกรรมให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมต่างๆ เกิดจากกระบวนการ 2 กระบวนการคือ การรับ (Assimilation) หมายถึง กระบวนการที่เด็กรับภาพต่างๆ จากสิ่งแวดล้อมตามประสบการณ์ของตัวเอง และจะแสดงพฤติกรรมต่อสิ่งใหม่ๆ ดังเช่นที่เคยมีประสบการณ์ และการเก็บและปรุงแต่ง (Accommodation) หรือการปรับความเข้าใจเดิมให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมใหม่ ดังนั้นการที่บุคคลจะสามารถพัฒนาการปรับตัวให้ดีขึ้นได้นั้น ย่อมมีผลมาจากการเรียนรู้ในประสบการณ์อดีตและสถานการณ์แต่ละสถานการณ์ของบุคคล และการพัฒนาความรู้ความเข้าใจจะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ตามวัยของบุคคลนั้น (สุชา จันทร์เอม. 2543) การศึกษาครั้งนี้สอดคล้องกับศิริมา ฟองคำ (2541) ที่ศึกษาความรู้และแหล่งความรู้เรื่องเพศของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น ในจังหวัดนครราชสีมา พบว่า นักเรียนที่มีระดับชั้นแตกต่างกัน มีความรู้ความเข้าใจเรื่องเพศแตกต่างกัน โดยนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 มีความรู้ความเข้าใจเรื่องเพศสูงกว่านักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 และสอดคล้องกับ ณัฐวรา จันทร์เอี่ยม (2546) ที่ศึกษาทักษะทางความคิดในการปรับตัวด้านสัมพันธภาพกับเพื่อนต่างเพศ ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายในเขตกรุงเทพมหานคร พบว่า กลุ่มนักเรียนที่เรียนในระดับชันมัธยมศึกษาปีที่ 6 มีค่าเฉลี่ยคะแนนทักษะทางความคิดในการปรับตัวกับเพื่อนต่างเพศสูงกว่ากลุ่มนักเรียนที่เรียนในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 และ 4 ตามลำดับ

_2.3 ประเภทโรงเรียน นักเรียนมัธยมศึกษาที่ศึกษาในโรงเรียนชายล้วน หญิงล้วน และสหศึกษา มีเจตคติในการคบเพื่อนต่างเพศแตกต่างกัน โดยนักเรียนมัธยมศึกษาที่ศึกษาในโรงเรียนชายล้วน มีเจตคติในการคบเพื่อนต่างเพศสูงกว่า นักเรียนในโรงเรียนสหศึกษาและนักเรียนในโรงเรียนหญิงล้วน ซึ่งสอดคล้องกับ นิ่มนวล อัณทะชัย (2532) ได้ศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างอัตมโนทัศน์กับการปรับตัวด้านสัมพันธภาพกับเพื่อนต่างเพศ พบว่า การปรับตัวกับเพื่อนต่างเพศของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นในโรงเรียนสหศึกษา ชายล้วน หญิงล้วน มีความแตกต่างกันทางสถิติอย่างมีนัยสำคัญที่ .01 และสอดคล้องกับ ชุลีพร อินทรไพบูลย์ (2536) ซึ่งได้ทำการศึกษาค่านิยมเกี่ยวกับพฤติกรรมในเรื่องเพศของนักเรียนวัยรุ่นในเขตกรุงเทพมหานคร พบว่า นักเรียนในโรงเรียนชายล้วนมีค่านิยมต่อพฤติกรรมทางเพศในทางลบสูงที่สุด เช่น การมีคู่รักหลายคนในเวลาเดียวกันเป็นสิ่งที่ดี การมีเพศสัมพันธ์กับเพื่อนต่างเพศระหว่างศึกษาเป็นเรื่องน่าลอง และจากการวิจัยครั้งนี้พบว่า นักเรียนที่ศึกษาในโรงเรียนชายล้วนมีเจตคติในการคบเพื่อนต่างเพศสูงกว่า นักเรียนที่ศึกษาในโรงเรียนสหศึกษาและโรงเรียนหญิงล้วน อาจเป็นเพราะ นักเรียนชายในโรงเรียนชายล้วนมีการสื่อสารกับเพื่อนในเรื่องเพศ เช่น การดูภาพโป๊ การพูดคุยเกี่ยวกับเรื่องเพศสัมพันธ์ได้มากกว่านักเรียนชายในโรงเรียนสหศึกษา เพราะ ในโรงเรียนชายล้วนมีเฉพาะกลุ่มเพื่อนเพศเดียวกันทำให้กล้าสื่อสารในเรื่องเพศอย่างเปิดเผย ซึ่งสอดคล้องกับร้อยตำรวจเอกทวีศักดิ์ ถิระบัญชาศักดิ์(2543 :อ้างอิงจากนพพร พานิชสุข) ได้ทำการศึกษาเรื่องทัศนคติและความต้องการของอาจารย์และนักเรียนมัธยมสาธิตรามคำแหงในเรื่องการสอนเพศศึกษา พบว่า กลุ่มเพื่อนมีอิทธิพลต่อความรู้ในเรื่องเพศของนักเรียนชายมากที่สุด โดยเฉพาะในเรื่องการดูภาพโป๊ และการเที่ยวโสเภณี ในกรณีที่มีปัญหาเกี่ยวกับเรื่องเพศนั้น นักเรียนชายส่วนใหญ่ต้องการปรึกษาเพื่อนสนิทมากกว่าพ่อแม่และครู

_2.4 สัมพันธภาพระหว่างนักเรียนกับผู้ปกครอง สัมพันธภาพระหว่างนักเรียนกับผู้ปกครอง นักเรียนมัธยมศึกษาที่มีสัมพันธภาพกับผู้ปกครองในระดับสูง ปานกลาง และต่ำ มีเจตคติในการคบเพื่อนต่างเพศแตกต่างกัน เนื่องจากการมีส่วนร่วมในกิจกรรมของครอบครัวร่วมกัน เป็นองค์ประกอบที่ช่วยเสริมสร้างความสัมพันธ์ที่ดีของสมาชิกในครอบครัว ซึ่งความสัมพันธ์ภายในครอบครัวมีอิทธิพลต่อการกำหนดพฤติกรรม บุคลิกภาพและการเรียนรู้ระเบียบของสังคม (ทวีรัสมิ์ ธนาคม. 2524) จึงอาจส่งผลต่อการมีทักษะทางความคิด ในการปรับตัวด้านสัมพันธภาพกับเพื่อนต่างเพศของนักเรียน ซึ่งสอดคล้องกับ จิระ จึงเจริญศิลป์ (2523) ได้ศึกษาเปรียบเทียบค่านิยมในการคบเพื่อนต่างเพศของวัยรุ่นในแหล่งเสื่อมโทรมคลองเตย พบว่า เด็กวัยรุ่นที่รู้สึกว่าครอบครัวไม่สงบสุข มีความรู้สึกในการคบเพื่อนต่างเพศ มากกว่าเด็กวัยรุ่นที่รู้สึกครอบครัวสงบสุข อย่างมีนัยสำคัญ .05 และสอดคล้องกับ นิศารัตน์ ทองอุปการ (2538) ศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างรูปแบบการการสื่อสารภายในครอบครัว และเจตคติต่อเรื่องเพศของวัยรุ่นในเขตกรุงเทพมหานคร พบว่าการสื่อสารในครอบครัวแบบเปิดคือ มีการพูดคุยสื่อสารกันมากระหว่างสมาชิกในครอบครัวมีความสัมพันธ์กับการที่วัยรุ่นจะมีเจตคติต่อเรื่องเพศในเชิงบวกและเป็นกลาง แต่จากการวิจัยครั้งนี้ พบว่านักเรียนมัธยมศึกษาที่มีสัมพันธภาพระหว่างนักเรียนกับผู้ปกครองในระดับสูงอาจอธิบายได้ว่า วัยรุ่นจะแสดงออกถึงความต้องการอิสระและต้องการอยู่กับเพื่อนมากกว่าพ่อแม่หรือผู้ปกครอง และเนื่องจากวัยรุ่นจะพยายามทำตัวของตัวให้เป็นตัวของตัวเองมากที่สุด ไม่ชอบให้ผู้ใหญ่มายุ่งเกี่ยวกับชีวิตของตน จะเห็นได้จากการขัดแย้งการกระทำต่าง ๆ การคิดและการตักสินใจด้วยตนเอง จึงถูกตำหนิจากผู้ใหญ่อยู่เสมอ ทำให้สัมพันธภาพของวัยรุ่นกับวัยผู้ใหญ่ราบรื่น เด็กวัยรุ่นจึงหันไปหากลุ่มเพื่อนทั้งเพศเดียวกันและต่างเพศ (ปรานี รามสูต. 2528) ดังนั้นวัยรุ่นที่มีความสัมพันธภาพกับผู้ปกครองในระดับปานกลาง อาจจะเป็นเพราะใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่กับเพื่อน ตามความต้องการของวัยรุ่น ซึ่งอาจส่งผลให้นักเรียนมีทักษะทางความคิดในการปรับตัวด้านสัมพันธภาพกับเพื่อนต่างเพศได้ดี

_2.5 ช่องว่างระหว่างวัย นักเรียนมัธยมศึกษาที่มีช่องว่างระหว่างวัยกับผู้ปกครองในระดับ มาก ปานกลาง และน้อย มีเจตคติในการคบเพื่อนต่างเพศไม่แตกต่างกัน เนื่องจาก เจตคติของบุคคลไม่ใช่สิ่งที่มีแต่กำเนิด บุคคลเกิดเจตคติขึ้นได้จากการเรียนรู้ และได้รับประสบการณ์ เชอรีฟและเชอรีฟ(Sherif;&Sherif. 1969:334) และอิทธิพลจากพ่อแม่เป็นแหล่งที่มีอิทธิพลสูงสุดต่อเด็ก (ธีระพร อุวรรณ. 2521) ดังนั้นเด็กที่เจริญเติบโตขึ้นจนถึงช่วงวัยรุ่น จึงมีเจตคติที่คล้ายคลึงกับพ่อแม่ ทั้งเจตคติที่มีต่อวัฒนธรรม จารีตประเพณี การดำเนินชีวิต และรวมไปถึงเจตคติทางเพศด้วย ดังที่เบงสัน (จรรยา สุวรรณทัต และคณะ. 2529: 16; อ้างอิงจาก Bengtson, 1970) นักทฤษฎีในเรื่องช่วงอายุ ได้ให้แนวคิดเกี่ยวกับเรื่องช่องว่างระหว่างวัยว่า เป็นความต่อเนื่องระหว่างสมาชิกที่อยู่ในช่วงอายุต่างๆ คือ ไม่ได้สิ่งใดใหม่จริงๆ(nothing really new position) แนวคิดนี้ชี้ให้เห็นความคล้ายคลึงกันภายในครอบครัวในเรื่องทัศนคติพื้นฐาน ชี้ให้เห็นความสำคัญของพ่อแม่ ในฐานะเป็นบุคคลที่สามารถอ้างอิงได้สำหรับวัยรุ่น และความใกล้ชิดของการสื่อสารระหว่างพ่อแม่ และเด็กทุกอายุ และสรุปว่าที่กล่าวกันว่ามีช่องว่างระหว่างวัยนั้น แท้จริงแล้วช่องว่างนี้ก็เป็นเพียงการสะท้อนให้เห็นความแตกต่างกันทางด้านสังคมอย่างหนึ่งเท่านั้น อีกเหตุผลหนึ่งที่สามารถกล่าวได้ คือ ในปัจจุบันผู้ปกครองมีโอกาสเข้าถึงสื่อต่างๆได้มากกว่า โดยเฉพาะข่าวสาร และกิจกรรมต่างๆในด้านของการอบรมเลี้ยงดู เพื่อลดปัญหาการสื่อสารระหว่างวัย และลดความคิดขัดแย้งระหว่างวัยรุ่นกับผู้ปกครอง รวมทั้งบอกถึงธรรมชาติ และความสนใจของวัยรุ่นไว้เพื่อลดปัญหาที่อาจเกิดขึ้น เช่นปัญหาเกี่ยวกับเพศและการคบเพื่อนต่างเพศ ซึ่งเป็นสิ่งที่วัยรุ่นกำลังให้ความสนใจมาก ทำให้พ่อแม่ผู้ปกครองมีความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับเรื่องนี้ ทั้งรายการโทรทัศน์ วิทยุ หนังสือ อินเตอร์เน็ต ที่มีทั้งข้อเท็จจริง ข้อเสนอแนะ หรือสอดแทรกข้อคิดเกี่ยวกับการอบรมเลี้ยงดู การสื่อสาร และเข้าใจเด็กในช่วงวัยรุ่นเอาไว้ อีกสถาบันหนึ่งที่มีส่วนสำคัญมากก็คือโรงเรียน ซึ่งเป็นผู้ประสานความเข้าใจระหว่างนักเรียนกับผู้ปกครอง โดยมีการจัดตั้งสมาคมผู้ปกครองและครู เพื่อให้ผู้ปกครองได้แลกเปลี่ยนความรู้ และความคิดเห็นในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับเด็กในปกครองของตน มีการจัดประชุมผู้ปกครองอย่างสม่ำเสมอ และมีกิจกรรมเพื่อสานสัมพันธ์ระหว่างนักเรียนกับผู้ปกครอง ซึ่งทำให้ผู้ปกครองปรับเปลี่ยนทัศนคติ และเข้าใจโลกของวัยรุ่น รวมทั้งยอมรับการเปลี่ยนแปลงต่างๆภายในสังคมได้มากขึ้น นอกจากนี้หากจะมองในอีกแง่มุมหนึ่ง พ่อแม่ ผู้ปกครองก็มักจะมีบทบาทน้อยที่จะเป็นแหล่งความรู้เรื่องเพศ เนื่องจาก ในประเทศไทยการพูดคุยเรื่องเพศอย่างเปิดเผยในครอบครัวยังไม่เป็นที่ยอมรับมากนัก จากการสำรวจเกี่ยวกับวัยรุ่นหลายครั้งมีข้อค้นพบที่เหมือนกันประการหนึ่งคือ ครอบครัวหรือบิดามารดาไม่ใช่แหล่งความรู้ที่สำคัญในเรื่องเพศ (เพ็ญศรี พิชัยสนิธ และคณะ. 2529) ดังนั้นแม้จะมีช่องว่างระหว่างวัยมากหรือน้อย ก็ไม่ได้ทำให้เจตคติในการคบเพื่อนต่างเพศของวัยรุ่นแตกต่างกัน และจากการศึกษาของ นรา สมประสงค์ (2520) เรื่องความสัมพันธ์ระหว่างความขัดแย้งของวัยรุ่นกับพ่อแม่ และการอบรมเลี้ยงดูของพ่อแม่ พบว่าเรื่องที่มีความขัดแย้งระหว่างพ่อแม่ และลูกน้อย คือ เรื่องบ่นเกี่ยวกับการสูบบุหรี่ การแต่งกายไปทำบุญ การคบเพื่อนต่างเพศ และการรับประทานอาหาร ซึ่งแสดงให้เห็นว่าเรื่องการคบเพื่อนต่างเพศไม่ใช่เรื่องที่พูดคุยกันในครอบครัวมากนัก จึงทำให้ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นมีน้อย เพราะฉะนั้นถึงแม้ว่าระยะห่างของอายุระหว่างวัยรุ่นกับผู้ปกครองจะมากหรือน้อย ก็ไม่ได้ทำให้เจตคติในการคบเพื่อนต่างเพศแตกต่างกัน

_2.6 สัมพันธภาพระหว่างนักเรียนกับเพื่อน นักเรียนมัธยมศึกษาที่มีสัมพันธภาพระหว่างนักเรียนกับเพื่อนในระดับ สูง ปานกลาง และต่ำ มีเจตคติในการคบเพื่อนต่างเพศไม่แตกต่างกัน เนื่องจากวัยรุ่นเป็นวัยที่ต้องการอิสรภาพมาก การดิ้นรนเป็นอิสระของเด็กคือ การปลีกตัวออกจากการเกี่ยวพันทางบ้าน รวมทั้งจะไม่ชอบให้พ่อแม่พี่น้องมายุ่งเกี่ยวกับเรื่องส่วนตัวของเขา อิสรภาพที่เด็กวัยรุ่นต้องการได้แก่ อิสระภาพทางด้านการแต่งกาย อิสระภาพทางการคบเพื่อน และอิสระภาพด้านการเที่ยวเตร่ (พรพิมล เจียมนาครินทร์. 2542) ดังนั้นวัยรุ่นจึงต้องการอิสระในการแสดงออกทางด้านความคิด ความรู้สึก และพฤติกรรมต่อเพื่อนต่างเพศ ทำให้สัมพันธภาพระหว่างนักเรียนกับเพื่อนไม่ส่งผลต่อเจตคติในการคบเพื่อนต่างเพศในวัยรุ่นซึ่งสอดคล้องกับงานวิจัยของ จรรยา เศรษฐบุตร (2536) ซึ่งศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างอิทธิพลภายในครอบครัว และอิทธิพลภายนอกครอบครัวต่อค่านิยมทางเพศของวัยรุ่นหญิงในอำเภอนางรอง จังหวัดบุรีรัมย์ พบว่า วัยรุ่นที่มีระดับความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับเพื่อนต่างเพศที่มีพฤติกรรมเบี่ยงเบนสูงไม่มีแนวโน้มว่ามีค่านิยมทางเพศแบบเสรีนิยม และวัยรุ่นที่มีระดับความสัมพันธ์กับเพื่อนต่ำก็ไม่มีแนวโน้มจะมีค่านิยมทางเพศแบบประเพณีนิยม แต่ผลการศึกษาครั้งนี้ไม่สอดคล้องกับ หทัยขวัญ สหชัยยัน (2548) ที่ศึกษาองค์ประกอบที่มีอิทธิพลต่อเจตคติในการคบเพื่อนต่างเพศของนักเรียนช่วงชั้นที่ 3 โรงเรียนการเคหะท่าทราย เขตหลักสี่ กรุงเทพมหานคร พบว่า สัมพันธภาพระหว่างนักเรียนกับเพื่อน มีความสัมพันธ์ทางบวกกับเจตคติในการคบเพื่อนต่างเพศ และผลการศึกษาครั้งนี้ไม่สอดคล้องกับกิติกร มีทรัพย์ (อารมณ์ มัตตะเดช อ้างจาก กิติกร มีทรัพย์.2527) ที่กล่าวว่า วัยรุ่นต้องการมีสัมพันธ์กับเพื่อนต่างเพศโดยธรรมชาติ ซึ่งในเรื่องนี้วัยรุ่นส่วนใหญ่ไม่อาจกระทำได้โดยตรง แต่อาศัยการผ่านกลุ่มต่างๆเป็นสื่อกลาง โดยพัฒนาจากการเป็นเพื่อนธรรมดา ขึ้นสู่การเป็นคนรักตามลำดับ

_2.7 อิทธิพลจากสื่อเกี่ยวกับการคบเพื่อนต่างเพศ จากการศึกษาครั้งนี้นักเรียนมัธยมศึกษา ที่รับเนื้อหาจากสื่อวิทยุ โทรทัศน์ วีดิทัศน์ สื่อสิ่งพิมพ์ และอินเตอร์เน็ต มีเจตคติในการคบเพื่อนต่างเพศแตกต่างกัน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 ที่เป็นเช่นนี้เพราะ ปัจจุบันความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีมีมาก การแพร่ข้อมูลข่าวสาร หรือเรื่องราวต่าง ๆ สามารถเข้าถึงผู้บริโภคได้อย่างรวดเร็วและกว้างขวาง เกือบทุกครัวเรือนได้รับข้อมูลข่าวสารและความบันเทิงผ่านทางสื่อมวลชนประเภทต่าง ๆ ซึ่งสื่อเหล่านี้มีผลต่อพฤติกรรมของเด็ก เพราะเป็นตัวกลางในการนำเสนอตัวแบบให้แก่เด็ก ทำให้เด็กอาจจะเลียนแบบพฤติกรรมนั้น ๆ ได้ ซึ่งเป็นไปตามหลักการเรียนรู้ตามทฤษฎีการเรียนรู้ทางสังคมของ โจเซฟ แคลปเปอร์ (กิตติ กันภัย. 2543: 39; อ้างอิงจาก Klapple,J.T. 1960) ที่กล่าวว่า เนื้อหาในสื่อมวลชนสามารถเป็นแรงเสริมเจตคติ ค่านิยม ปทัสถานความเชื่อ ของบุคคลที่รับสารได้ และหากบุคคลนั้น ๆ เชื่อในสิ่งเหล่านั้นอยู่แล้ว สิ่งที่เสนอในสื่อมวลชน ช่วยให้ความเชื่อนั้นหนักแน่นขึ้น ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับทัศนะเดิมของผู้รับสารอยู่แล้ว และจากการศึกษาครั้งนี้พบว่า นักเรียนมัธยมศึกษาที่รับสื่อวีดิทัศน์ มีเจตคติในการคบเพื่อนต่างเพศสูงกว่านักเรียนมัธยมศึกษาที่รับสื่อโทรทัศน์และอินเตอร์เน็ต อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 เพราะสื่อวีดิทัศน์เป็นสื่อที่สามารถมีสิทธิครอบครองหรือหาซื้อได้โดยง่าย และเนื้อหาภายใน มักแสดงออกถึงเรื่องเพศหรือการคบเพื่อนต่างเพศอย่างเปิดเผย ซึ่งบางครั้งไม่มีการตรวจสอบเนื้อหาเรื่องราวก่อนที่จะนำไปเผยแพร่ โดยเฉพาะภาพยนตร์ต่างประเทศ ทำให้เด็กชอบเลียนแบบจากภาพยนตร์ แล้วนำมาใช้ในชีวิตของตนอย่างไม่ถูกไม่ควร (ประยูรศรี มณีสร. 2528?) ส่วนสื่อโทรทัศน์นั้น เนื้อสื่อที่ออกมาจะได้รับการตรวจสอบจากทั้งทางสถานีโทรทัศน์และองค์กรต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องไม่ให้แพร่ภาพในสิ่งที่ไม่เหมาะสมแก่ผู้รับสื่อ จึงทำให้สื่อวีดิทัศน์ มีผลต่อการเลียนแบบพฤติกรรมได้มากกว่า และในทางเดียวกัน แม้อินเตอร์เน็ตจะเป็นสื่อที่ทันสมัย มีความสามารถ และศักยภาพในการเรียนรู้ในเรื่องต่าง ๆ ได้สูง แต่ในปัจจุบันได้ถูกควบคุมและปราบปรามการเผยแพร่ภาพและเนื้อหาที่ล่อแหลม รวมไปถึงเรื่องราวที่ไม่เหมาะสมต่อเยาวชนต่าง ๆ อย่างเคร่งครัด อีกทั้งบางครัวเรือนอาจยังไม่มีเครื่องคอมพิวเตอร์ ไม่ได้เปิดใช้อินเตอร์เน็ต หรือถ้ามีก็อาจจะถูกควบคุมโดยผู้ปกครอง ให้สามารถเล่นได้ในเว็บไซต์ที่เหมาะสมเท่านั้น (หทัยขวัญ สหชัยยันต์. 2548) จึงทำให้เกิดการเลียนแบบหรือเสริมสร้างเจตคติในการคบเพื่อนต่างเพศได้ยากกว่าการรับสื่อวีดิทัศน์ สอดคล้องกับดร.พิชิต พิทักษ์เทพสมบัติและดร.จำนง วิบูลย์ศรี (2534) ได้ศึกษาการเปิดรับข่าวสารต้องห้ามของเยาวชนไทย อายุระหว่าง 15-24 ปี จำนวน1,018 คน ในเขตชนบทและเขตทั่วประเทศยกเว้นกรุงเทพมหานครพบว่าเยาวชนกว่าครึ่งหนึ่ง (ร้อยละ 60.0 ) เคยดูภาพต้องห้าม และที่น่าเป็นห่วงคือร้อยละ39.3 เคยดูภาพที่แสดงการร่วมเพศหรือภาพโป๊จากVDO ซึ่งเป็นภาพเคลื่อนไหว และน่าจะกระตุ้นเยาวชนได้มากกว่าสื่ออื่น

3. ปัจจัยทางชีวสังคมร่วมกันทำนายเจตคติในการคบเพื่อนต่างเพศของนักเรียนมัธยมศึกษาเพศชาย ได้ร้อยละ 37.3 อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 และปัจจัยที่สามารถพยากรณ์เจตคติในการคบเพื่อนต่างเพศของนักเรียนมัธยมศึกษาเพศชาย มี 4 ปัจจัยโดยเรียงลำดับจากตัวแปรที่ส่งผลมากที่สุดไปหาน้อยที่สุด ได้แก่ ระดับชั้น สื่อโทรทัศน์ สัมพันธภาพระหว่างนักเรียนกับเพื่อน และสัมพันธภาพระหว่างนักเรียนกับผู้ปกครอง ซึ่งปัจจัยทั้ง 4 ปัจจัยนี้สามารถร่วมกันพยากรณ์เจตคติในการคบเพื่อนต่างเพศของนักเรียนมัธยมศึกษาเพศชาย ได้ร้อยละ 36.2 อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 อภิปรายผลได้ดังนี้

_3.1 ระดับชั้น เป็นปัจจัยที่ส่งผลทางบวกต่อเจตคติในการคบเพื่อนต่างเพศของนักเรียนมัธยมศึกษาเพศชาย อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 เป็นอันดับแรก แสดงว่า เมื่อนักเรียนมัธยมศึกษาเพศชายศึกษาในระดับชั้นเรียนที่สูงขึ้น จะมีเจตคติในการคบเพื่อนต่างเพศสูงขึ้นตามไปด้วย ดังที่ สุชา จันทน์เอม (2529) กล่าวว่า วัยรุ่นที่มีอายุระหว่าง 12-15 ปี เป็นวัยที่เริ่มสนใจเพศตรงข้าม ต้องการมีมิตรภาพ ความรัก และต้องการอิสระจากบิดามารดา เป็นวัยที่เริ่มคบหาเพศตรงข้ามที่ถูกใจ ซึ่งเป็นบันไดขั้นแรกนำไปสู่ความรักเพศตรงข้าม และความสัมพันธ์ทางเพศ อีกทั้งหลักสูตรการศึกษาในระดับมัธยมศึกษา มีการสอดแทรกเนื้อหาความรู้เรื่องเพศในวิชาต่างๆมากขึ้น กล่าวคือ หลักสูตรได้กำหนดเนื้อหาเรื่องเพศไว้ในวิชาสุขศึกษา วิทยาศาสตร์ คหกรรมศาสตร์ เป็นต้น (ศิริมา ฟองคำ. 2541) ซึ่งทำให้เมื่อศึกษาในระดับชั้นที่สูงขึ้น นักเรียนก็จะผ่านการศึกษาในวิชาต่างๆที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับเพศศึกษามากขึ้น ส่วนการที่ปัจจัยระดับชั้นส่งผลต่อเจตคติในการคบเพื่อนต่างเพศในนักเรียนมัธยมศึกษาเพศชายเป็นอันดับแรกเป็นเพราะ การสอนเรื่องเพศศึกษากับนักเรียนชายที่ศึกษาในระดับชั้นต่างๆ ครูอาจารย์จะใช้วิธีการสอนที่ตรงไปตรงมาและชัดเจน ไม่จำเป็นต้องระมัดระวังคำพูดและมีการวางตัวมากเท่าการสอนนักเรียนเพศหญิง ทำให้นักเรียนชายมีการเรียนรู้และมีความเข้าใจที่ดี ซึ่งส่งผลถึงการมีเจตคติในการคบเพื่อนต่างเพศดีตามไปด้วย

_3.2 สื่อโทรทัศน์ เป็นปัจจัยที่ส่งผลทางบวกต่อเจตคติในการคบเพื่อนต่างเพศของนักเรียนมัธยมศึกษาเพศชาย อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 เป็นอันดับสอง แสดงว่า เมื่อนักเรียนมัธยมศึกษาเพศชายได้รับเนื้อสื่อจากโทรทัศน์มาก จะมีเจตคติในการคบเพื่อนต่างเพศสูงขึ้น ที่เป็นเช่นนี้เพราะ โทรทัศน์เป็นสื่อที่มีอิทธิพลสูงมากกว่าสื่อประเภทอื่น ๆ เพราะได้เห็นทั้งภาพ ได้ยินทั้งเสียง สามารถดึงดูดความสนใจของเด็กได้มากที่สุด เด็กสมัยนี้มีความฉลาดกว่าสมัยก่อนมาก เพราะมีโอกาสได้ฟังเรื่องราว ข่าวสาวที่แปลกใหม่ทันต่อเหตุการณ์ทั้งภายในและต่างประเทศ ได้เห็นความเจริญก้าวหน้าในวิทยาการแขนงต่าง ๆ ชีวิตความเป็นอยู่ทั้งของคนและสัตว์ เป็นแหล่งเสนอความบันเทิงทุกรูปแบบแก่เด็ก ขณะเดียวกันโทรทัศน์ก็เข้ามาแย่งเวลาของครอบครัว เวลาทำการบ้าน เวลาทำกิจกรรมอื่นๆ และไม่ช่วยพ่อแม่ทำงานบ้าน ฯลฯ เมื่อเด็กมีโทรทัศน์เป็นเพื่อนแทน เด็กจะหันเหความคิดของตนไปสู่เรื่อง ความคิดเดียวกับและพร้อม ๆ กันจากเรื่องจริงบ้าง เรื่องที่แต่งขึ้นมาบ้าง โดยหวังเพียงความเพลินเพลิน เด็กไม่มีการเลือกและไม่สามารถแยกออกได้ว่า เรื่องใดดีหรือไม่ดี (สุกัญญา ตีระวนิช และนันทริกา คุ้มไพโรจน์. 2545?) และปัจจุบัน เนื้อสื่อที่นำเสนอในโทรทัศน์ มักชอบนำเรื่องทางเพศมาเกี่ยวข้อง จึงอาจจะทำให้ผู้ได้รับสื่อรู้สึกว่าเรื่องทางเพศเป็นเรื่องธรรมดา และทำให้มีเจตคติในการคบเพื่อนต่างเพศสูงขึ้นได้ ซึ่งสอดคล้องกับงานวิจัยของบำรุงสุข สีหอำไพ จำนง วิบูลย์ศรี สุกัญญา ตีระวนิช (สุกัญญา ตีระวนิช และนันทริกา คุ้มไพโรจน์. อ้างอิงจาก บำรุงสุข สีหอำไพ จำนง วิบูลย์ศรี สุกัญญา ตีระวนิช. 2545?) ได้ทำการวิจัยสำรวจแบบแผนทั่วไปในการดูโทรทัศน์ของเด็ก และค้นคว้า ประเมินผลกระทบต่างๆ ของโทรทัศน์ ในด้านชีวิตความเป็นอยู่ แรงบันดาลใจตลอดจนความสัมพันธ์ภายในครอบครัวของเด็กเปรียบเทียบอิทธิพลของโทรทัศน์กับการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรมในประเทศญี่ปุ่น ไทย ฟิลิปปินส์ โดยทำการศึกษากับเด็กในช่วงอายุ 7-10 ปีจำนวน 200 คน กับมารดาของเด็กอีก 200 คน พบว่า นักเรียนมัธยมศึกษาปีที่ 2 ส่วนใหญ่ได้รับอิทธิพลทางจริยธรรมจากสื่อละครโทรทัศน์ตามพฤติกรรมของตัวละคร และเหตุการณ์ที่มีอิทธิพลต่อนักเรียน ส่วนการที่โทรทัศน์ส่งผลต่อเจตคติในการคบเพื่อนต่างเพศเฉพาะในนักเรียนมัธยมศึกษาเพศหญิง เนื่องจาก เด็กชายและหญิงชอบสื่อต่างชนิดกัน นิตยสารเป็นสื่อที่เด็กหญิงชอบ และอ่านมากกว่าเด็กชาย แต่เด็กชายชอบภาพเคลื่อนไหวมากกว่าผู้หญิง (สุกัญญา ตีระวนิช และนันทริกา คุ้มไพโรจน์. 2545?)

_3.3 สัมพันธภาพระหว่างนักเรียนกับเพื่อน เป็นปัจจัยที่ส่งผลทางบวกต่อเจตคติในการคบเพื่อนต่างเพศของนักเรียนมัธยมศึกษาเพศชาย อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 เป็นอันดับสาม แสดงว่า เมื่อนักเรียนมัธยมศึกษาเพศชายมีสัมพันธภาพระหว่างนักเรียนกับเพื่อนสูง จะมีเจตคติในการคบเพื่อนต่างเพศสูงขึ้น ที่เป็นเช่นนี้เพราะเพื่อนเป็นผู้ที่มีอิทธิพลและมีความใกล้ชิดกับวัยรุ่นเพศชายมากจึงดึงดูดความสนใจและช่วยให้ประสิทธิภาพของการเลียนแบบสูงขึ้น ดังคำกล่าวของ ผ่องพรรณ เกิดพิทักษ์ (ปิยะธิดา เกษสุวรรณ อ้างอิงจาก ผ่องพรรณ เกิดพิทักษ์. 2530) ที่กล่าวว่า ตัวแบบและผู้เลียนแบบควรมีความคล้ายคลึงกัน มีลักษณะหรือคุณสมบัติร่วมกันจะช่วยดึงดูดความสนใจของผู้สังเกต จะช่วยให้ประสิทธิภาพของการเลียนแบบสูงขึ้น เช่น อยู่ในวัยเดียวกัน เป็นเพื่อนกัน นอกจากนี้ ศรีเรือน แก้วกังวาล (2530) ยังกล่าวไว้ว่า การเข้ากลุ่มนอกจากเป็นช่องทางให้เด็กได้รับการตอบสนอง ความต้องการขั้นพื้นฐานทางสังคมในแง่ต่างๆ เช่น ฐานะ ตำแหน่ง คำยกย่อง มีเพื่อนผู้เข้าใจและร่วมทุกข์ร่วมสุข ยังเปิดโอกาสให้เด็กชายและเด็กหญิงได้รู้จักมักคุ้น เข้าใจความแตกต่างระหว่างเพศ รู้จักประพฤติตนตามบทบาทเพศ รู้จักปฏิบัติตนต่อเพื่อนร่วมเพศและต่างเพศ จึงเป็นเหตุให้เจตคติในการคบเพื่อนต่างเพศสูงขึ้นได้ ส่วนสาเหตุที่ทำให้สัมพันธภาพระหว่างนักเรียนกับเพื่อนส่งผลต่อเจตคติในการคบเพื่อนต่างเพศเฉพาะในนักเรียนมัธยมศึกษาเพศชาย เนื่องจาก ตามสภาพสังคมไทย เพศชาย เพศหญิง ได้รับการสั่งสอนหรือได้รับการคาดหวังจากสังคมแตกต่างกัน โดยที่เพศหญิงได้รับการปลูกฝังให้มีอิสระน้อย อยู่ในความดูแลของบิดามารดาอย่างใกล้ชิด ต้องทำตามความต้องการของบิดามารดา มีกฎเกณฑ์มารยาททางสังคม เป็นแนวทางในการปฏิบัติตัว ส่วนเพศชายสังคมไทยมีความเชื่อว่ามีความเป็นผู้นำ ได้รับการยกย่องทางสังคม ได้รับการเลี้ยงดูให้มีอิสระมากกว่าเพศหญิง มีกฎเกณฑ์มารยาททางสังคม เป็นแนวทางในการปฏิบัติ จำกัดน้อยกว่าเพศหญิง ทำให้สามารถคบหาเพื่อนได้โดย ไม่ต้องการการปกป้องดูแลจากบิดา มารดาอย่างใกล้ชิด เหมือนกับเพศหญิง (ชมนุช บุญสิทธิ์. 2541)

_3.4 สัมพันธภาพระหว่างนักเรียนกับผู้ปกครอง เป็นปัจจัยที่ส่งผลทางลบต่อเจตคติในการคบเพื่อนต่างเพศของนักเรียนมัธยมศึกษาเพศชาย อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 เป็นอันดับสุดท้าย แสดงว่า เมื่อนักเรียนมัธยมศึกษาเพศชายมีสัมพันธภาพระหว่างนักเรียนกับผู้ปกครองสูง จะมีเจตคติในการคบเพื่อนต่างเพศต่ำ เพราะธรรมชาติของวัยรุ่นเพศชายมีความอยากรู้อยากเห็น โดยเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวกับเพศตรงข้าม จะผลักดันให้เด็กเสาะหาความรู้เกี่ยวกับเรื่องเพศ หรือประกอบกิจกรรมทางเพศ ซึ่งจะกระทำได้มากหรือน้อยขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อม ได้แก่ ขนบธรรมเนียมประเพณี วัฒนธรรมของแต่ละสังคม และการอบรมเลี้ยงดูของบิดามารดา (มลวิภา สุวรรณมาลัย. 2516: 44) นอกจากนี้ ครอบครัวเป็นสถาบันที่ปลูกฝังจริยธรรมให้กับวัยรุ่น เมื่อวัยรุ่นมีสัมพันธภาพกับผู้ปกครองสูง ก็จะได้รับอิทธิพลทางด้านจริยธรรมสูง ดังคำกล่าวของ เคย์ (ดวงเดือน พันธุมนาวิน และเพ็ญแข ประจนปัจนึก; อ้างอิงจาก Kay. 1975) ที่กล่าวว่าครอบครัวมีบทบาทที่สำคัญมาก และเป็นจุดเริ่มต้นของการปลูกฝังจริยธรรมในเด็ก แม้เมื่อเด็กโตขึ้นยังได้รับอิทธิพลของสังคมจากแหล่งอื่นๆ เช่น สื่อมวลชน โรงเรียน กลุ่มเพื่อน ศาสนา กลุ่มงาน เป็นต้น แต่ครอบครัวก็เป็นผู้เตรียมพื้นฐานทางจิตใจ ให้บุคคลรับอิทธิพลจากแหล่งอื่นๆ ในปริมาณและคุณภาพที่แตกต่างกัน ซึ่งสอดคล้องกับการศึกษาของ นพพร พานิชสุข (2522) ที่ศึกษาค่านิยมเกี่ยวกับความบริสุทธิ์ของหญิงสาวก่อนแต่งงาน พบว่า นักเรียนชายร้อยละ 39.2 เห็นว่าเป็นสิ่งจำเป็น และสอดคล้องกับงานวิจัยของ เกื้อ วงศ์บุญสิน และเยาวรัตน์ ปรปักษ์ขาม (2531) ที่ศึกษาทัศนคติและพฤติกรรมทางเพศของเยาวชนไทย พบว่า เยาวชนชายร้อยละ 83.9 มีทัศนคติไม่เห็นด้วยที่หนุ่มสาวจะมีเพศสัมพันธ์ก่อนแต่งงาน

4. ปัจจัยทางชีวสังคมร่วมกันทำนายเจตคติในการคบเพื่อนต่างเพศของนักเรียนมัธยมศึกษาเพศหญิง ได้ร้อยละ 36.1 อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 และ ปัจจัยที่สามารถพยากรณ์เจตคติในการคบเพื่อนต่างเพศของนักเรียนมัธยมศึกษาเพศหญิง มี 3 ปัจจัย โดยเรียงลำดับจากตัวแปรที่ส่งผลมากที่สุดไปหาน้อยที่สุด ได้แก่ สัมพันธภาพระหว่างนักเรียนกับผู้ปกครอง ระดับชั้น และโรงเรียนสหศึกษา ซึ่งปัจจัยทั้ง 3 ปัจจัยนี้สามารถร่วมกันพยากรณ์เจตคติในการคบเพื่อนต่างเพศของนักเรียนมัธยมศึกษาเพศหญิง ได้ร้อยละ 33.9 อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 อภิปรายผลได้ดังนี้

_4.1 สัมพันธภาพระหว่างนักเรียนกับผู้ปกครอง เป็นปัจจัยที่ส่งผลทางลบต่อเจตคติในการคบเพื่อนต่างเพศของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาเพศหญิง อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 เป็นอันดับแรก แสดงว่า เมื่อนักเรียนมัธยมศึกษาเพศหญิงมีสัมพันธภาพระหว่างนักเรียนกับผู้ปกครองสูง จะมีเจตคติในการคบเพื่อนต่างเพศต่ำ เนื่องจากในสังคมไทย ครอบครัวเป็นสถาบันทางสังคมที่มีอิทธิพลต่อจิตใจคนไทยมาตั้งแต่เด็กจนกระทั่งเป็นผู้ใหญ่ คนไทยจะผูกพันกับครอบครัว โดยเฉพาะบิดามารดาของตนจนแก่เฒ่า อาจกล่าวได้ว่าครอบครัวไทยมีบทบาทสำคัญต่อจิตใจมากกว่าที่จะปรากฏในวัฒนธรรมอื่นๆ (ดวงเดือน พันธุมนาวิน และเพ็ญแข ประจนปัจจนึก. 2524: 8) โดยธรรมชาติของเพศหญิงนั้น เป็นเพศที่อ่อนโยน ไม่หยาบกระด้าง ดังนั้นจึงมีการสื่อสารระหว่างกัน ทำให้สนิทสนมกับผู้ปกครอง ตัวผู้ปกครองเองก็กล้าที่จะซักถามถึงเรื่องเรียน เรื่องงาน รวมทั้งเรื่องเกี่ยวกับเพื่อนต่างเพศ คอยเป็นที่ปรึกษาให้กับวัยรุ่น วัยรุ่นจึงเห็นแนวทางปฏิบัติตน ไม่ออกนอกลู่ทาง และประพฤติตนตามปทัสฐานของสังคมไทยที่มีค่านิยมเกี่ยวกับการรักนวลสงวนตัวของหญิงไทย ซึ่งมีหลักฐานปรากฏอยู่ในวรรณกรรมต่างๆของไทย เช่น สุภาษิตสอนหญิงที่พยายามจะสั่งสอน อบรมให้หญิงไทยประพฤติปฏิบัติอยู่ในกรอบประเพณี ลูกผู้หญิงจึงถูกอบรมอย่างเข้มงวดกวดขันมากกว่าลูกผู้ชาย เนื่องจากหากเกิดความพลาดพลั้งทางเพศขึ้นมา ฝ่ายหญิงจะเป็นฝ่ายเสียเปรียบเพราะปรากฏประจักษ์พยานทางร่างกายอย่างชัดเจน และจะมีปฏิกิริยาตอบโต้ทางสังคมอย่างรุนแรง ตรงข้ามกับฝ่ายชายที่ไม่ถือเป็นเรื่องเสียหาย (จรรยา เศรษฐบุตร. 2536: 23) ซึ่งสอดคล้องกับงานวิจัยของ จริยา พงศ์วิวัฒน์ (2526) ที่ศึกษาทัศนคติต่อการมีเพศสัมพันธ์ก่อนแต่งงานของนักเรียนมัธยมศึกษาปีที่ 1 ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่มีอายุอยู่ในช่วงวัยรุ่น ส่วนใหญ่มาจากครอบครัวที่สมบูรณ์ นักศึกษากลุ่มนี้ทั้งหมดเห็นด้วยกับทัศนะที่ว่า เป็นเรื่องเสื่อมเสียที่ผู้หญิงจะมีประสบการณ์ทางเพศก่อนแต่งงาน สอดคล้องกับงานวิจัยของ อุทิศ เชาวลิต (2521) ที่ศึกษาค่านิยมในการมีเพศสัมพันธ์ก่อนสมรส พบว่า นักศึกษาหญิงเห็นว่า การมีเพศสัมพันธ์ก่อนการสมรสของชายและหญิงเป็นเรื่องน่ารังเกียจและไม่ควรปฏิบัติ สอดคล้องกับงานวิจัยของ ขนิษฐา โพธินุกูล (จรรยา เศรษฐบุตร. 2536: 28; อ้างอิงจาก ขนิษฐา โพธินุกูล. 2522) ได้ศึกษาทัศนคติของนักศึกษาต่อพฤติกรรมทางเพศของหนุ่มสาว พบว่า นักศึกษาส่วนใหญ่ ร้อยละ 68.2 เห็นว่าพฤติกรรมการมีความสัมพันธ์ทางเพศก่อนแต่งงานเป็นเรื่องเสียหาย และสอดคล้องกับงานวิจัยของ สุมนา ชมพูทวีป และคนอื่นๆ (2531) ซึ่งกลุ่มตัวอย่างเป็นนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ถึงปีที่ 6 จากโรงเรียนในกรุงเทพมหานคร 21 โรง จำนวน 4,377 คน พบว่ามีเพียงร้อยละ 15.7 ที่เห็นด้วยกับการมีประสบการณ์ทางเพศก่อนการแต่งงานของผู้หญิง

_4.2 ระดับชั้น เป็นปัจจัยที่ส่งผลทางบวกต่อเจตคติในการคบเพื่อนต่างเพศของนักเรียนมัธยมศึกษาเพศหญิง อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 เป็นอันดับสอง แสดงว่า เมื่อนักเรียนมัธยมศึกษาเพศหญิงศึกษาในระดับชั้นที่สูงขึ้น จะมีเจตคติในการคบเพื่อนต่างเพศสูงขึ้นตามไปด้วย ทั้งนี้อาจเนื่องมาจาก เพศหญิงเป็นเพศที่สามารถปรับตัวได้ดีในทุกๆด้าน รวมถึงด้านเจตคติในการคบเพื่อนต่างเพศ ดังที่ แมคโคบีและแจคลิน (จารุวรรณ สกุลคู. 2545: 27; อ้างอิงจาก Maccoby and Jacklin. 1974) กล่าวว่า ในปัจจุบันสังคมส่งเสริมให้ผู้หญิงมีบทบาททางสังคมมากขึ้น ทั้งทางด้านความคิดและการปฏิบัติ ซึ่งผลักดันให้ผู้หญิงต้องขวนขวาย และปรับตัวให้เข้ากับสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ซึ่งสอดคล้องกับการศึกษาของแคคการ์ (ศึกษา พาหะมาก. 2532: 78; อ้างอิงจาก Kakkar. 1968: 706) ที่ศึกษาการปรับตัวกับการยอมรับตนเองระหว่างเด็กหญิงและเด็กชาย พบว่า เด็กหญิงมีการยอมรับและปรับตัวดีกว่าเด็กชาย อีกทั้ง นักเรียนที่มีอายุมากกว่าจะมีวุฒิภาวะ ประสบการณ์ และการถ่ายทอดทางสังคมมากกว่านักเรียนที่อายุน้อย ทำให้เกิดความสามารถในการคิด ทัศนคติ และการเรียนรู้ในสิ่งต่างๆทางด้านวิชาการ การดำเนินชีวิตประจำวันได้ดีกว่านักเรียนที่มีอายุน้อย ซึ่งนั่นก็หมายถึงการมีพัฒนาการทางสติปัญญาที่แตกต่างกัน (ศึกษา พาหะมาก. 2532) สอดคล้องกับการศึกษาของ กุลวรรณ วิทยาวงศ์รุจิ (2526) ที่ศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างสัมพันธภาพในครอบครัวกับการปรับตัว ในกรุงเทพมหานคร โดยใช้กลุ่มตัวอย่างเป็นนักเรียนมัธยมศึกษาตอนต้นและตอนปลาย พบว่า นักเรียนที่มีระดับชั้นเรียนต่างกัน มีการปรับตัวแตกต่างกัน และแนวโน้มของการปรับตัวจะดีขึ้นตามระดับชั้นเรียนที่สูงขึ้น

_4.3 โรงเรียนสหศึกษา เป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อเจตคติในการคบเพื่อนต่างเพศของนักเรียนมัธยมศึกษาเพศหญิง อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 เป็นอันดับสุดท้าย แสดงว่า โรงเรียนสหศึกษาส่งผลให้นักเรียนหญิงมีเจตคติในการคบเพื่อนต่างเพศสูงกว่าโรงเรียนหญิงล้วน ทั้งนี้เนื่องจากในโรงเรียนหญิงล้วนและโรงเรียนสหศึกษามี สิ่งแวดล้อมในโรงเรียน กลุ่มเพื่อน และการสอนวิชาเพศศึกษา หรือวิชาที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับวัยรุ่นและการคบเพื่อนต่างเพศแตกต่างกัน จึงส่งผลให้นักเรียนหญิงในทั้งสองประเภทโรงเรียนมีเจตคติและความสามารถในการปรับตัวต่อการคบเพื่อนต่างเพศแตกต่างกัน ดังที่ ร้อยตำรวจเอกทวีศักดิ์ ถิระบัญชาศักดิ์ (2543: 98) กล่าวว่า เมื่อเปรียบเทียบความแตกต่างในเรื่องความรู้เรื่องเพศศึกษาระหว่างนักเรียนหญิงจากโรงเรียนหญิง และนักเรียนหญิงจากโรงเรียนสหศึกษา พบว่านักเรียนมีความรู้เรื่องเพศศึกษาแตกต่างกันโดยนักเรียนหญิงจากโรงเรียนหญิงแตกต่างกับนักเรียนหญิงจากโรงเรียนสหศึกษา อาจเนื่องมาจากวิธีการสอนที่ครูสอนแตกต่างกัน นโยบายการสอนความรู้เรื่องเพศในปัจจุบันมีอุปสรรคที่สำคัญ คือขาดบุคลากรที่มีความรู้ ขาดความเข้าใจ และเนื้อหาทางเพศถูกจำกัดอยู่ในเนื้อหาวิชาต่าง ๆ ซึ่งสอดคล้องกับ นิ่มนวล อัณทะชัย (2532: บทคัดย่อ) ศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปรอัตมโนทัศน์กับการปรับตัวด้านสัมพันธภาพกับเพื่อนต่างเพศและตัวแปรที่เกี่ยวข้อง พบว่า การปรับตัวกับเพื่อนต่างเพศของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นในโรงเรียนสหศึกษา ชายล้วน หญิงล้วน มีความแตกต่างกันทางสถิติอย่างมีนัยสำคัญที่ .01 และสอดคล้องกับ สิริวรรณ ค่ำแช่ม (2520: 69-68) ที่ศึกษาการปรับตัวในการคบเพื่อนต่างเพศระหว่างนักศึกษาหญิงชั้นปีที่ 1 ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน ที่จบจากโรงเรียนสตรีและโรงเรียนสหศึกษา พบว่า นักศึกษาหญิงที่จบจากโรงเรียนสตรี มีการปรับตัวแตกต่างจากนักศึกษาหญิงที่จบจากโรงเรียนสหศึกษา โดยนักศึกษาหญิงที่จบจากโรงเรียนสตรีมีเพื่อนต่างเพศน้อย ชอบอยู่ในกลุ่มเพื่อนเพศเดียวกัน มีความวิตกต่อการคุ้นเคยใกล้ชิดกับเพศตรงข้าม ส่วนนักศึกษาที่จบจากโรงเรียนสหศึกษา จะมีเพื่อนต่างเพศมากและชอบอยู่ในกลุ่มเพื่อนต่างเพศ มีความเชื่อมั่นในตนเอง ในการคบเพื่อนต่างเพศ อีกทั้งนักเรียนหญิงที่ศึกษาในโรงเรียนสหศึกษามีโอกาสปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนเพศตรงข้าม จึงทำให้เกิดการเรียนรู้และเข้าใจในบทบาททางเพศมากกว่านักเรียนหญิงในโรงเรียนหญิงล้วน

สถิติและผลการวิเคราะห์ข้อมูล

สถิติและผลการวิเคราะห์ข้อมูล

การจัดกระทำข้อมูลและการวิเคราะห์ข้อมูล
1. วิเคราะห์ข้อมูลพื้นฐาน โดยการหาค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย และค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน

2. เปรียบเทียบปัจจัยด้านเพศ ระดับชั้น สัมพันธภาพระหว่างนักเรียนกับผู้ปกครอง ช่องว่างระหว่างวัย สัมพันธภาพระหว่างนักเรียนกับเพื่อน ประเภทโรงเรียน และอิทธิพลจากสื่อเกี่ยวกับการคบเพื่อนต่างเพศ กับเจตคติในการคบเพื่อนต่างเพศของนักเรียนมัธยมศึกษา

3. วิเคราะห์ปัจจัย ระดับชั้น สัมพันธภาพระหว่างนักเรียนกับผู้ปกครองช่องว่างระหว่างวัย สัมพันธภาพระหว่างนักเรียนกับเพื่อน ประเภทโรงเรียน และอิทธิพลจากสื่อเกี่ยวกับการคบเพื่อนต่างเพศ ที่มีอิทธิพลต่อเจตคติในการคบเพื่อนต่างเพศของนักเรียนมัธยมศึกษาเพศชาย

4. วิเคราะห์ปัจจัย ระดับชั้น สัมพันธภาพระหว่างนักเรียนกับผู้ปกครอง ช่องว่างระหว่างวัย สัมพันธภาพระหว่างนักเรียนกับเพื่อน ประเภทโรงเรียน และอิทธิพลจากสื่อเกี่ยวกับการคบเพื่อนต่างเพศ ที่มีอิทธิพลต่อเจตคติในการคบเพื่อนต่างเพศของนักเรียนมัธยมศึกษาเพศหญิง

5. สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล
_5.1 สถิติพื้นฐาน ได้แก่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย และค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน
_5.2 สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์คุณภาพเครื่องมือ ได้แก่
____5.2.1 การหาค่าอำนาจจำแนกของแบบสอบถาม โดยใช้เทคนิค
25% กลุ่มสูง-กลุ่มต่ำ แล้วทดสอบด้วย t-test
____5.2.2 การหาค่าความเชื่อมั่นของแบบสอบถาม โดยการหาค่า
สัมประสิทธิ์แอลฟ่า (α - Coefficient) ของครอนบาค (Cronbach)
_5.3 สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์สมมติฐาน ได้แก่
____5.3.1 เปรียบเทียบ ปัจจัยด้านเพศ ระดับชั้น สัมพันธภาพระหว่าง
ผู้ปกครองกับนักเรียน ช่องว่างระหว่างวัย สัมพันธภาพระหว่างนักเรียนกับเพื่อน ประเภทโรงเรียน และอิทธิพลจากสื่อเกี่ยวกับการคบเพื่อนต่างเพศ ของนักเรียนมัธยมศึกษา โดย
_____5.3.1.1 ตัวแปรด้านเพศ เปรียบเทียบโดยใช้ t-test เพื่อ
ทดสอบสมมติฐานข้อที่ 1
_____5.3.1.2 ตัวแปรด้าน ระดับชั้น สัมพันธภาพระหว่างนักเรียนกับผู้ปกครอง ช่องว่างระหว่างวัย สัมพันธภาพระหว่างนักเรียนกับเพื่อน ประเภทโรงเรียน และอิทธิพลจากสื่อเกี่ยวกับการคบเพื่อนต่างเพศ เปรียบเทียบโดยใช้ one-way anova เพื่อทดสอบสมมติฐานข้อที่ 2-7
_____5.3.1.3 วิเคราะห์ ปัจจัย ระดับชั้น สัมพันธภาพระหว่างนักเรียนกับผู้ปกครอง ช่องว่างระหว่างวัย สัมพันธภาพระหว่างนักเรียนกับเพื่อน ประเภทโรงเรียน และอิทธิพลจากสื่อเกี่ยวกับการคบเพื่อนต่างเพศ ที่มีอิทธิพลต่อเจตคติในการคบเพื่อนต่างเพศของนักเรียนมัธยมศึกษาเพศชายและเพศหญิง โดยการใช้การวิเคราะห์การถดถอยพหุคูณ แบบ Enter และ Stepwise โดยมีการใช้เทคนิคตัวแปรหุ่น (Dummy Variables) เพื่อให้ข้อมูลมีลักษณะสอดคล้องกับข้อตกลงเบื้องต้นของสถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล เพื่อทดสอบสมมติฐานข้อที่ 8 - 11

สรุปผลการวิเคราะห์ข้อมูล
1. นักเรียนมัธยมศึกษาเพศชายมีเจตคติในการคบเพื่อนต่างเพศสูงกว่าเพศหญิง อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05

2. นักเรียนที่ศึกษาในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1-6 มีเจตคติในการคบเพื่อนต่างเพศแตกต่างกัน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05

3. นักเรียนมัธยมศึกษาที่ศึกษาในโรงเรียนชายล้วน มีเจตคติในการคบเพื่อนต่างเพศสูงกว่า นักเรียนมัธยมศึกษาที่ศึกษาในโรงเรียนหญิงล้วนและโรงเรียนสหศึกษา และนักเรียนมัธยมศึกษาที่ศึกษาในโรงเรียนสหศึกษา มีเจตคติในการคบเพื่อนต่างเพศสูงกว่า นักเรียนมัธยมศึกษาที่ศึกษาในโรงเรียนหญิงล้วน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05

4. นักเรียนมัธยมศึกษาที่มีช่องว่างระหว่างวัยกับผู้ปกครองในระดับ มาก ปานกลาง และน้อย มีเจตคติในการคบเพื่อนต่างเพศไม่แตกต่างกัน

5. นักเรียนมัธยมศึกษาที่มีสัมพันธภาพระหว่างนักเรียนกับผู้ปกครองในระดับปานกลางมีเจตคติในการคบเพื่อนต่างเพศสูงกว่านักเรียนมัธยมศึกษาที่มีสัมพันธภาพระหว่างนักเรียนกับผู้ปกครองในระดับสูงและต่ำ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05

6. นักเรียนมัธยมศึกษาที่มีสัมพันธภาพระหว่างนักเรียนกับเพื่อนในระดับสูง ปานกลาง และต่ำ มีเจตคติในการคบเพื่อนต่างเพศไม่แตกต่างกัน

7. นักเรียนมัธยมศึกษาที่รับสื่อ วิทยุ โทรทัศน์ วีดิทัศน์ สื่อสิ่งพิมพ์ และอินเตอร์เน็ต มีเจตคติในการคบเพื่อนต่างเพศแตกต่างกัน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05

8. ปัจจัยทางชีวสังคมร่วมกันทำนายเจตคติในการคบเพื่อนต่างเพศของนักเรียนมัธยมศึกษาเพศชาย ได้ร้อยละ 37.3 อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05

9. ปัจจัยที่สามารถพยากรณ์เจตคติในการคบเพื่อนต่างเพศของนักเรียนมัธยมศึกษาเพศชาย มี 4 ปัจจัยโดยเรียงลำดับจากตัวแปรที่ส่งผลมากที่สุดไปหาน้อยที่สุด ได้แก่ ระดับชั้น สื่อโทรทัศน์ สัมพันธภาพระหว่างนักเรียนกับเพื่อน และสัมพันธภาพระหว่างนักเรียนกับผู้ปกครอง ซึ่งปัจจัยทั้ง 4 ปัจจัยนี้สามารถร่วมกันพยากรณ์เจตคติในการคบเพื่อนต่างเพศของนักเรียนมัธยมศึกษาเพศชาย ได้ร้อยละ 36.2 อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 และนำค่าสัมประสิทธิ์ของตัวพยากรณ์ มาเขียนเป็นสมการได้ดังนี้

สมการพยากรณ์เจตคติในการคบเพื่อนต่างเพศของนักเรียนมัธยมศึกษาเพศชาย โดยใช้คะแนนดิบได้แก่
^
Y = 2.20 +.13(GR) + .26(MD4) + .23(FR) - .23(PR)

สมการพยากรณ์เจตคติในการคบเพื่อนต่างเพศของนักเรียนมัธยมศึกษาเพศชาย โดยใช้คะแนนมาตรฐาน ได้แก่
Z = .40(GR) + .22(MD4) + .24(FR) - .23(PR)

10. ปัจจัยทางชีวสังคมร่วมกันทำนายเจตคติในการคบเพื่อนต่างเพศของนักเรียนมัธยมศึกษาเพศหญิง ได้ร้อยละ 36.3 อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05

11. ปัจจัยที่สามารถพยากรณ์เจตคติในการคบเพื่อนต่างเพศของนักเรียนมัธยมศึกษาเพศหญิง มี 3 ปัจจัย โดยเรียงลำดับจากตัวแปรที่ส่งผลมากที่สุดไปหาน้อยที่สุด ได้แก่ สัมพันธภาพระหว่างนักเรียนกับผู้ปกครอง ระดับชั้น และโรงเรียนสหศึกษา ซึ่งปัจจัยทั้ง 3 ปัจจัยนี้สามารถร่วมกันพยากรณ์เจตคติในการคบเพื่อนต่างเพศของนักเรียนมัธยมศึกษาเพศหญิง ได้ร้อยละ 34 อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 และนำค่าสัมประสิทธิ์ของตัวพยากรณ์ เขียนเป็นสมการได้ดังนี้
สมการพยากรณ์เจตคติในการคบเพื่อนต่างเพศของนักเรียนมัธยมศึกษาเพศหญิง โดยใช้คะแนนดิบ ได้แก่
^
Y = 3.23 - .27(PR) +.10(GR) -.27(SC1)

สมการพยากรณ์เจตคติในการคบเพื่อนต่างเพศของนักเรียนมัธยมศึกษาเพศหญิง โดยใช้คะแนนมาตรฐาน ได้แก่
Z = -.34(PR) + .32(GR) - .25(SC1)

วิธีดำเนินการศึกษาค้นคว้า

วิธีดำเนินการศึกษาค้นคว้า

ในการศึกษาค้นคว้าครั้งนี้ ผู้วิจัยได้ดำเนินการตามขั้นตอน ดังนี้
1. การกำหนดประชากรและการเลือกกลุ่มตัวอย่าง
2. การสร้างเครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย
3. การเก็บรวบรวมข้อมูล
4. การจัดกระทำและการวิเคราะห์ข้อมูล

การกำหนดกลุ่มประชากรและกลุ่มตัวอย่างประชากร
ประชากรที่ใช้ในการศึกษาครั้งนี้ เป็นนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 - 6 ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2548 สังกัดคณะกรรมการการศึกษากระทรวงขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ ในเขตกรุงเทพมหานคร ซึ่งมีจำนวนโรงเรียนทั้งสิ้น 115 โรงเรียน มีนักเรียนกำลังศึกษาชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 - 6 ทั้งสิ้น 272,888 คน

กลุ่มตัวอย่าง
กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการศึกษาครั้งนี้ เป็นนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 - 6 ภาคเรียน ที่ 2 ปีการศึกษา 2548 ในโรงเรียนที่จัดการศึกษาตามหลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการ เขตกรุงเทพมหานคร ซึ่งมีจำนวน 400 คน จากประชากร โดยกำหนดขนาดของกลุ่มตัวอย่างจากสูตรยามาเน่ (Taro Yamane) ด้วยความเชื่อมั่น 95 เปอร์เซ็นต์ และเพื่อให้การศึกษามีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น จึงมีการเพิ่มขนาดตัวอย่างสำหรับการศึกษาในครั้งนี้เป็น 450 คน ซึ่งกลุ่มตัวอย่างที่ได้มาโดยวิธีการสุ่มแบบหลายขั้นตอน (Multistage Random Sampling) โดยมีขั้นตอนดังนี้

ขั้นตอนการสุ่ม
1. ใช้การสุ่มแบบชั้นภูมิ (Stratified Random Sampling) โดยการแบ่งชั้นภูมิตาม ประเภทโรงเรียน 3 ประเภท คือ
- โรงเรียนสหศึกษา 93 โรงเรียน
- โรงเรียนชายล้วน 11 โรงเรียน
- โรงเรียนหญิงล้วน 11 โรงเรียน

2. ใช้การสุ่มอย่างง่าย (Simple Random Sampling) โดยสุ่มโดยวิธีการจับฉลาก จากชั้นภูมิที่ได้แบ่งไว้มาชั้นภูมิละ 1 โรงเรียนและได้แบ่งสัดส่วนจำนวนนักเรียนให้เท่ากันทั้ง 3 โรงเรียน ได้ผลการสุ่มดังนี้
- นักเรียนจากโรงเรียนสหศึกษา โรงเรียนบางมดวิทยา จำนวน 150 คน
- นักเรียนจากโรงเรียนชายล้วน โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย จำนวน 150 คน
- นักเรียนจากโรงเรียนหญิงล้วน โรงเรียนศึกษานารี จำนวน 150 คน
หลังจากนั้นทำการสุ่มห้อง และนักเรียน ด้วยการสุ่มอย่างง่าย (Simple Random Sampling) อีกครั้งหนึ่ง

การสร้างเครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย
เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษาค้นคว้า
เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษาครั้งนี้ แบ่งออกเป็น 4 ตอน ดังนี้
ตอนที่ 1 แบบสอบถามข้อมูลส่วนตัว
ตอนที่ 2 แบบสอบถามเจตคติในการคบเพื่อนต่างเพศ
ตอนที่ 3 แบบสอบถามสัมพันธภาพระหว่างนักเรียนกับผู้ปกครอง
ตอนที่ 4 แบบสอบถามสัมพันธภาพระหว่างนักเรียนกับเพื่อน

ตอนที่ 1 แบบสอบถามข้อมูลส่วนตัว มีขั้นตอนการสร้าง ดังนี้
_1.1 ผู้วิจัยศึกษาเอกสาร และงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับเจตคติในการคบเพื่อนต่างเพศ
_1.2 ผู้วิจัยสร้างแบบสอบถามด้านข้อมูลส่วนตัว โดยสร้างข้อคำถามให้สอดคล้องกับนิยามศัพท์เฉพาะและความมุ่งหมายของงานวิจัย
_1.3 ผู้วิจัยนำแบบสอบถามข้อมูลส่วนตัวจำนวน 4 ข้อ ที่ได้ปรับปรุงแก้ไขตามข้อเสนอแนะของผู้เชี่ยวชาญไปทดลองใช้ (Try-out) กับนักเรียน... จำนวน 30 คน จากนั้นนำมาหาข้อบกพร่อง และปรับปรุงข้อคำถามให้เหมาะสมกับกลุ่มตัวอย่างมากขึ้น

ตอนที่ 2 แบบสอบถามเจตคติในการคบเพื่อนต่างเพศ มีขั้นตอนการสร้าง ดังนี้
_2.1 ผู้วิจัยศึกษา เอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับเจตคติในการคบเพื่อนต่างเพศ
_2.2 ผู้วิจัยศึกษาแบบสอบถามเจตคติในการคบเพื่อนต่างเพศ ของ หทัยขวัญ สหชัยยันต์(2548 : 109-113)
_2.3 ผู้วิจัยปรับปรุงแบบสอบถามเจตคติในการคบเพื่อนต่างเพศ ที่ได้ศึกษาความรู้ตามข้อ 2.1 และข้อ 2.2 เป็นแบบสอบถามประมาณค่า (Rating Scale) ตามแบบของลิเคิร์ท(Likirt) มี 5 ระดับ คือ ด้านความคิด ได้แก่ เห็นด้วยอย่างยิ่ง เห็นด้วย ไม่แน่ใจ ไม่เห็นด้วย และไม่เห็นด้วยอย่างยิ่ง ด้านความรู้สึก ได้แก่ มากที่สุด มาก ปานกลาง น้อย และน้อยที่สุด ด้านแนวโน้มที่จะแสดงพฤติกรรม ได้แก่ เป็นประจำ บ่อย บ่อยครั้ง น้อยครั้ง และน้อยที่สุด

ตอนที่ 3 แบบสอบถามสัมพันธภาพระหว่างนักเรียนกับผู้ปกครอง มีขั้นตอนการสร้างดังนี้
_3.1 ผู้วิจัยศึกษา เอกสาร และงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับสัมพันธภาพระหว่างนักเรียนกับผู้ปกครอง
_3.2 ผู้วิจัยศึกษาแบบสอบถามสัมพันธภาพระหว่างนักเรียนกับผู้ปกครอง ของ หทัยขวัญ สหชัยยันต์ (2548: 117-118)
_3.3 ผู้วิจัยปรับปรุงแบบสอบถามสัมพันธภาพระหว่างนักเรียนกับผู้ปกครอง ที่ได้ศึกษาความรู้ตามข้อ 3.1 และข้อ 3.2 เป็นแบบสอบถามประมาณค่า (Rating Scale) มี 5 ระดับ ได้แก่ จริงมากที่สุด จริงมาก จริงปานกลาง จริงน้อย จริงน้อยที่สุด

เกณฑ์การแปลความหมาย (วิเชียร เกตุสิงห์.2538: 9)
คะแนนเฉลี่ย 3.67 – 5.00 หมายถึง มีสัมพันธภาพในครอบครัวดี
คะแนนเฉลี่ย 2.34 – 3.66 หมายถึง มีสัมพันธภาพในครอบครัวพอใช้
คะแนนเฉลี่ย 1.00 – 2.33 หมายถึง มีสัมพันธภาพในครอบครัวไม่ดี

ตอนที่ 4 แบบสอบถามสัมพันธภาพระหว่างนักเรียนกับเพื่อน มีขั้นตอนการสร้างดังนี้
_4.1 ผู้วิจัยศึกษา เอกสาร และงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับสัมพันธภาพระหว่างนักเรียนกับเพื่อน
_4.2 ผู้วิจัยศึกษาแบบสอบถามสัมพันธภาพระหว่างนักเรียนกับเพื่อน ของ หทัยขวัญ สหชัยยันต์ (2548: 119)
_4.3 ผู้วิจัยปรับปรุงแบบสอบถามสัมพันธภาพระหว่างนักเรียนกับเพื่อน ที่ได้ศึกษาความรู้ตามข้อ 4.1 และข้อ 4.2 เป็นแบบสอบถามประมาณค่า (Rating Scale) มี 5 ระดับ ได้แก่ จริงมากที่สุด จริงมาก จริงปานกลาง จริงน้อย จริงน้อยที่สุด

เกณฑ์การแปลความหมาย (วิเชียร เกตุสิงห์.2538:9)
คะแนนเฉลี่ย 3.67 – 5.00 หมายถึง มีสัมพันธภาพระหว่างนักเรียนกับเพื่อนดี
คะแนนเฉลี่ย 2.34 – 3.66 หมายถึง มีสัมพันธภาพระหว่างนักเรียนกับเพื่อนดีพอใช้
คะแนนเฉลี่ย 1.00 – 2.33 หมายถึง มีสัมพันธภาพระหว่างนักเรียนกับเพื่อนไม่ดี

การหาคุณภาพเครื่องมือ
1. ผู้วิจัยสร้างแบบสอบถามให้สอดคล้องกับนิยามศัพท์เฉพาะและจุดมุ่งหมาย แล้วนำไปหาความเที่ยงตรงเชิงประจักษ์ (Face Validity) โดยนำไปให้ผู้เชี่ยวชาญได้แก่อาจารย์ที่ปรึกษางานวิจัยและ กลุ่มวิจัยจำนวน 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่ม 3 กลุ่ม 4 และกลุ่ม 5 ตรวจสอบความเหมาะสมด้านเนื้อหา ภาษา และข้อคำถามให้สอดคล้องกับนิยามศัพท์เฉพาะ และนำไปปรับปรุงแก้ไขก่อนนำไปใช้

2. นำแบบสอบถามที่สร้างขึ้นมาปรับปรุงแก้ไขตามข้อเสนอแนะของผู้เชี่ยวชาญ แล้วนำไปทดลองใช้กับนักเรียน โรงเรียนศรีอยุธยา โรงเรียนเทพศิรินทร์ และ โรงเรียนสตรีวิทยา
_2.1 นำแบบสอบถามที่ทดลองใช้แล้วมาหาค่าอำนาจจำแนกเป็นรายข้อ โดยใช้เทคนิค 25% กลุ่มสูง-กลุ่มต่ำ แล้วทดสอบด้วย t-test เลือกเฉพาะค่า t ที่มีนัยสำคัญที่ระดับ .05 นำมาใช้ใน0การวิจัย ได้ผลดังนี้

ตอนที่ 2 แบบสอบถามเจตคติในการคบเพื่อนต่างเพศ เป็นแบบสอบถาม
ชนิดมาตราส่วนประมาณค่า(Rating Scale) ตามแบบของลิเคอร์ท (Likert Scale) มี 5 ระดับ จำนวน 37 ข้อ มีค่า t อยู่ระหว่าง .795 – 9.59

ตอนที่ 3 แบบสอบถามสัมพันธภาพระหว่างนักเรียนกับผู้ปกครองเป็น
แบบสอบถามชนิดมาตราส่วนประมาณค่า(Rating Scale) มี 5 ระดับ จำนวน 20 ข้อ มีค่า t อยู่ระหว่าง 1.986 – 12.021

ตอนที่4 แบบสอบถามสัมพันธภาพระหว่างนักเรียนกับเพื่อน เป็น
แบบสอบถามชนิดมาตราส่วนประมาณค่า(Rating Scale) มี 5 ระดับ จำนวน 15 ข้อ มีค่า t อยู่ระหว่าง 1.528 – 4.660

_2.2 นำแบบสอบถามที่คัดเลือกแล้วในข้อ 2.1 มาหาค่าความเชื่อมั่นของ
แบบสอบถามที่คัดเลือกไว้ เพื่อหาค่าสัมประสิทธิ์แอลฟ่า
(α - Coefficient) ของครอนบาค(Cronbach) แล้วนำมาใช้ในการวิจัย ได้ผลดังนี้

ตอนที่ 2 แบบสอบถามเจตคติในการคบเพื่อนต่างเพศ มีค่าความเชื่อมั่น
เท่ากับ .932 โดยแบ่งเป็นรายด้านดังนี้
- ด้านความคิด มีค่าความเชื่อมั่นเท่ากับ .778
- ด้านความรู้สึก มีค่าความเชื่อมั่นเท่ากับ .882
- ด้านแนวโน้มที่จะแสดงพฤติกรรม มีค่าความเชื่อมั่นเท่ากับ .843

ตอนที่ 3 แบบสอบถามสัมพันธภาพระหว่างนักเรียนกับผู้ปกครอง มีค่า
ความเชื่อมั่นเท่ากับ .918

ตอนที่ 4 แบบสอบถามสัมพันธภาพระหว่างนักเรียนกับเพื่อน มีค่าความ
เชื่อมั่นเท่ากับ .794

การเก็บรวบรวมข้อมูล
1. คณะผู้วิจัยทำหนังสือจากคณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒเพื่อนำไปขออนุญาต และขอความร่วมมือในการตอบแบบสอบถาม จากโรงเรียนบางมดวิทยา โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย และโรงเรียนศึกษานารี

2. คณะผู้วิจัยทำแบบสอบถามเจตคติในการคบเพื่อนต่างเพศไปเก็บรวบรวมข้อมูลด้วยตนเอง ที่โรงเรียนบางมดวิทยา โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย และโรงเรียนศึกษานารี จำนวน 450 ฉบับ ได้รับคืนมาครบทุกฉบับ

3. คณะผู้วิจัยนำแบบสอบถามที่นักเรียนตอบมาคัดเลือกเฉพาะแบบสอบถามที่สมบูรณ์ คือตอบคำถามครบทุกข้อ ปรากฏว่าสมบูรณ์ทุกฉบับ จึงนำมาให้คะแนนตามเกณฑ์ที่กำหนด จากนั้นจึงนำมาวิเคราะห์ข้อมูลทางสถิติ เพื่อทดสอบสมมติฐาน

ความมุ่งหมายและสมมติฐาน

ความมุ่งหมายและสมมติฐาน

ความมุ่งหมายของการวิจัย
ในการวิจัยครั้งนี้ผู้วิจัยได้ตั้งความมุ่งหมายไว้ดังนี้
1. เพื่อศึกษาเจตคติต่อการคบเพื่อนต่างเพศของนักเรียนมัธยมศึกษา
2. เพื่อศึกษาเปรียบเทียบระหว่างปัจจัยทางชีวสังคมกับเจตคติต่อการคบเพื่อนต่างเพศของนักเรียนมัธยมศึกษา
3. เพื่อศึกษาปัจจัยทางชีวสังคมที่มีอิทธิพลต่อเจตคติต่อในการคบเพื่อนต่างเพศของนักเรียนมัธยมศึกษาเพศชายและเพศหญิง

ความสำคัญของการวิจัย
ผลจากการศึกษาในครั้งนี้ จะทำให้ทราบเจตคติต่อการคบเพื่อนต่างเพศของนักเรียนมัธยมศึกษาปีที่ 1-6 ในเขตกรุงเทพมหานคร และเพื่อเป็นประโยชน์ต่อครู อาจารย์แนะแนว พ่อแม่และผู้ปกครอง ตลอดจนผู้ที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำข้อมูลที่ได้ไปประกอบการวางแผนพัฒนาเจตคติต่อการคบเพื่อนต่างเพศของนักเรียนมัธยมศึกษาปีที่ 1-6 ได้ดียิ่งขึ้น

นิยามศัพท์เฉพาะ
1. นักเรียนมัธยมศึกษา หมายถึง นักเรียนที่กำลังศึกษาอยู่ในชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1-6 ทั้งเพศชายและเพศหญิง ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2548 ในโรงเรียนที่จัดการศึกษาตามหลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการ ในเขตกรุงเทพมหานคร โดยแบ่งเป็นโรงเรียนสหศึกษา และโรงเรียนเอกเพศ ซึ่งได้แก่ โรงเรียนชายล้วน โรงเรียนหญิงล้วน
2. ช่องว่างระหว่างวัย หมายถึง ความแตกต่างกันระหว่างอายุของพ่อแม่กับลูก ซึ่งส่งผลต่อทัศนคติ และค่านิยมที่แตกต่างกัน ทำให้เกิดผลกระทบต่อการอบรมสั่งสอน และการถ่ายทอดทางวัฒนธรรม
3. อิทธิพลจากสื่อเกี่ยวกับการคบเพื่อนต่างเพศ หมายถึง การรับรู้ข้อมูลข่าวสารจากสื่อต่าง ๆ ที่ทำให้เกิดการเลียนแบบ หรือปฏิบัติตามเกี่ยวกับการคบเพื่อนต่างเพศ แบ่งออกได้ดังนี้
1 วิทยุ
2 โทรทัศน์
3 วีดิทัศน์
4 สิ่งตีพิมพ์
5 อินเตอร์เน็ต

นิยามปฏิบัติการ
1. เจตคติต่อการคบเพื่อนต่างเพศ หมายถึง ความคิด ความรู้สึก และแนวโน้มในการแสดงพฤติกรรมของนักเรียนที่มีต่อการคบเพื่อนต่างเพศ ได้แก่ การคบกันในฐานะเพื่อน การมีนัด การปฏิบัติตนเมื่อสนิทสนมขั้นเป็นคู่รัก ซึ่งแบ่งออกเป็น 3 ด้าน ได้แก่
1 เจตคติด้านความคิด
2 เจตคติด้านความรู้สึก
3 เจตคติด้านแนวโน้มในการแสดงพฤติกรรม

ตัวแปรนี้วัดโดยแบบสอบถามวัดเจตคติต่อการคบเพื่อนต่างเพศ ซึ่งกลุ่มผู้วิจัยได้ปรับปรุงมาจากแบบสอบถามเจตคติต่อการคบเพื่อนต่างเพศของ หทัยขวัญ สหชัยยันต์ (2548: 108-113) ซึ่งเป็นแบบสอบถามชนิดมาตราส่วนประเมินค่า (Rating Scale) 5 ระดับ โดยแบบสอบถามแบ่งออกเป็น 3 ด้าน คือ ด้านความคิด จาก “เห็นด้วยอย่างยิ่ง” ถึง “ไม่เห็นด้วยอย่างยิ่ง” ด้านความรู้สึก จาก “มากที่สุด” ถึง “น้อยที่สุด” และด้านแนวโน้มที่จะแสดงพฤติกรรม จาก “เป็นประจำ” ถึง “น้อยครั้งที่สุด” มีจำนวน 36 ข้อ คะแนนจึงมีพิสัยระหว่าง 36-180 คะแนน ผู้ที่ตอบ “เห็นด้วยอย่างยิ่ง” “มากที่สุด” “เป็นประจำ” ในข้อที่แสดงถึงเจตคติทางบวก จะได้คะแนนสูง ซึ่งหมายถึง เป็นผู้ที่มีความคิด ความรู้สึกเห็นด้วย และมีแนวโน้มในการแสดงพฤติกรรม ในลักษณะสามารถถูกเนื้อต้องตัว นัดเที่ยวสังสรรค์ และแสดงออกว่าเป็นคู่รักอย่างเปิดเผยกับเพศตรงข้าม ส่วนผู้ตอบ “เห็นด้วยอย่างยิ่ง” “มากที่สุด” “เป็นประจำ” ในข้อที่แสดงถึงเจตคติทางลบจะได้คะแนนต่ำ ซึ่งหมายถึงเป็นผู้ที่มีความคิด ความรู้สึกไม่เห็นด้วย และมีแนวโน้มที่จะไม่แสดงพฤติกรรมในลักษณะสามารถถูกเนื้อต้องตัว นัดเที่ยวสังสรรค์ และแสดงออกว่าเป็นคู่รักอย่างเปิดเผยกับเพศตรงข้าม ในกรณีแบ่งผู้ตอบเป็น 3 กลุ่ม คือ ผู้ที่มีคะแนนเฉลี่ย 3.67-5.00 หมายถึง มีเจตคติทางบวกต่อการคบเพื่อนต่างเพศ ผู้ที่มีคะแนนเฉลี่ย 2.34-3.66 หมายถึง มีเจตคติปานกลางต่อการคบเพื่อนต่างเพศ และผู้ที่มีคะแนนเฉลี่ย 1.00-2.33 หมายถึง มีเจตคติทางลบต่อการคบเพื่อนต่างเพศ

2. สัมพันธภาพระหว่างนักเรียนกับผู้ปกครอง หมายถึง การปฏิบัติตนของบิดามารดา หรือผู้ปกครองต่อนักเรียน และการปฏิบัติตนของนักเรียนต่อบิดามารดาหรือผู้ปกครอง เพื่อให้เกิดความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันและกัน ดังนี้
_2.1 การปฏิบัติตนของบิดามารดา หรือผู้ปกครองต่อนักเรียน ได้แก่ การให้ความรัก ความอบอุ่น การเอาใจใส่ การดูแลสุขภาพ อบรมสั่งสอน รวมทั้งเป็นที่ปรึกษาทั้งเรื่องส่วนตัวและเรื่องของการศึกษา
_2.2 การปฏิบัติตนของนักเรียนต่อบิดามารดาหรือผู้ปกครอง ได้แก่ การเชื่อฟังการอบรมสั่งสอนทั้งทางด้านการใช้ชีวิตส่วนตัว การเงิน การเรียน การให้ความรัก ความห่วงใย และช่วยเหลืองานในครอบครัว

ตัวแปรนี้วัดโดยแบบสอบถามวัดสัมพันธภาพระหว่างนักเรียนกับผู้ปกครอง ซึ่งกลุ่มผู้วิจัยได้ปรับปรุงมาจากแบบสอบถามสัมพันธภาพระหว่างนักเรียนกับผู้ปกครองของ หทัยขวัญ สหชัยยันต์ (2548: 117-118) ซึ่งเป็นแบบสอบถามชนิดมาตราส่วนประเมินค่า (Rating Scale) 5 ระดับ จาก “จริงที่สุด” ถึง “จริงน้อยที่สุด” มีจำนวน16 ข้อ คะแนนจึงมีพิสัยระหว่าง 16-80 คะแนน ผู้ที่ตอบ “จริงที่สุด” ในข้อที่แสดงถึงสัมพันธภาพทางบวก จะได้คะแนนสูง ส่วนผู้ตอบ “จริงที่สุด” ในข้อที่แสดงถึงสัมพันธภาพทางลบจะได้คะแนนต่ำ ในกรณีแบ่งผู้ตอบเป็น 3 กลุ่ม คือ ผู้ที่มีคะแนนเฉลี่ย 3.67-5.00 หมายถึง มีสัมพันธภาพในครอบครัวดี ผู้ที่มีคะแนนเฉลี่ย 2.34-3.66 หมายถึง มีสัมพันธภาพในครอบครัวพอใช้ และผู้ที่มีคะแนนเฉลี่ย 1.00-2.33 หมายถึง มีสัมพันธภาพในครอบครัวไม่ดี

3. สัมพันธภาพระหว่างนักเรียนกับเพื่อน หมายถึง การปฏิบัติตนของนักเรียนและเพื่อนที่มีต่อกันทั้งในและนอกห้องเรียน ได้แก่ การช่วยเหลือพึ่งพาอาศัยกัน การแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในด้านการเรียน การห่วงใยใกล้ชิดสนิทสนมซึ่งกันและกัน การสนทนาในเรื่องส่วนตัว และทำกิจกรรมต่าง ๆร่วมกัน

ตัวแปรนี้วัดโดยแบบสอบถามวัดสัมพันธภาพระหว่างนักเรียนกับเพื่อน ซึ่งกลุ่มผู้วิจัยได้ปรับปรุงมาจากแบบสอบถามสัมพันธภาพระหว่างนักเรียนกับเพื่อนของ หทัยขวัญ สหชัย-ยันต์ (2548: 119) ซึ่งเป็นแบบสอบถามชนิดมาตราส่วนประเมินค่า (Rating Scale) 5 ระดับ จาก “จริงที่สุด” ถึง “จริงน้อยที่สุด” มีจำนวน 12 ข้อ คะแนนจึงมีพิสัยระหว่าง 12-60 คะแนน ผู้ที่ตอบ “จริงที่สุด” ในข้อที่แสดงถึงสัมพันธภาพทางบวก จะได้คะแนนสูง ส่วนผู้ตอบ “จริงที่สุด” ในข้อที่แสดงถึงสัมพันธภาพทางลบจะได้คะแนนต่ำ ในกรณีแบ่งผู้ตอบเป็น 3 กลุ่ม คือ ผู้ที่มีคะแนนเฉลี่ย 3.67-5.00 หมายถึง มีสัมพันธภาพระหว่างนักเรียนกับเพื่อนดี ผู้ที่มีคะแนนเฉลี่ย 2.34-3.66 หมายถึง มีสัมพันธภาพระหว่างนักเรียนกับเพื่อนพอใช้ และผู้ที่มีคะแนนเฉลี่ย 1.00-2.33 หมายถึง มีสัมพันธภาพระหว่างนักเรียนกับเพื่อนไม่ดี

สมมติฐานในการวิจัย
1. เพศชายมีเจตคติในการคบเพื่อนต่างเพศสูงกว่าเพศหญิง

2. นักเรียนที่ศึกษาในระดับชั้นเรียนที่แตกต่างกัน มีเจตคติในการคบเพื่อนต่างเพศแตกต่างกัน

3. นักเรียนที่ศึกษาในโรงเรียนชายล้วนมีเจตคติในการคบเพื่อนต่างเพศสูงสุด

4. ช่องว่างระหว่างวัยน้อย มีเจตคติในการคบเพื่อนต่างเพศสูงสุด

5. กลุ่มที่มีสัมพันธภาพระหว่างนักเรียนกับผู้ปกครองสูง จะมีเจตคติในการคบเพื่อนต่างเพศสูงกว่ากลุ่มอื่นๆ

6. กลุ่มที่มีสัมพันธภาพระหว่างนักเรียนกับเพื่อนสูง จะมีเจตคติในการคบเพื่อนต่างเพศสูงกว่ากลุ่มอื่นๆ

7. อิทธิพลจากสื่อที่แตกต่างกัน จะมีเจตคติในการคบเพื่อนต่างเพศแตกต่างกัน

8. ปัจจัยทางชีวสังคมร่วมกันทำนายเจตคติในการคบเพื่อนต่างเพศของนักเรียนมัธยมศึกษาเพศชายได้

9. ปัจจัยทางชีวสังคมสามารถทำนายเจตคติในการคบเพื่อนต่างเพศของนักเรียนมัธยมศึกษาเพศชายได้

10. ปัจจัยทางชีวสังคมร่วมกันทำนายเจตคติในการคบเพื่อนต่างเพศของนักเรียน มัธยมศึกษาเพศหญิงได้

11. ปัจจัยทางชีวสังคมสามารถทำนายเจตคติในการคบเพื่อนต่างเพศของนักเรียน มัธยมศึกษาเพศหญิงได้

บทคัดย่อ

ณรงค์รักษ์ ต่อศรีเจริญ วามดา จินดามาตย์ อภิญญา สุวลีรัตน์ ยาใจ เพชรสงฆ์ ฏิฎะณัฐ อิงคุลานนท์ และกิตติศักดิ์ จิตรภักดี. (2549). ปัจจัยทางชีวสังคมที่มีอิทธิพลต่อเจตคติในการคบเพื่อนต่างเพศของนักเรียนมัธยมศึกษาในเขตกรุงเทพมหานคร. รายงานการวิจัย วท.บ. (จิตวิทยา). กรุงเทพฯ: ภาควิชาจิตวิทยา คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ. อาจารย์ที่ปรึกษา: อาจารย์ ดร.เรวดี ทรงเที่ยง

งานวิจัยนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อศึกษาเจตคติต่อการคบเพื่อนต่างเพศของนักเรียนมัธยมศึกษาศึกษาเปรียบเทียบระหว่างปัจจัยทางชีวสังคมกับเจตคติต่อการคบเพื่อนต่างเพศของนักเรียนมัธยมศึกษา และเพื่อศึกษาปัจจัยทางชีวสังคมที่มีอิทธิพลต่อเจตคติต่อในการคบเพื่อนต่างเพศของนักเรียนมัธยมศึกษาเพศชายและเพศหญิง

งานวิจัยครั้งนี้เป็นงานวิจัยเชิงเปรียบเทียบและพยากรณ์ กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการศึกษาค้นคว้าครั้งนี้ เป็นนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1-6 จำนวน 450 คน ซึ่งได้จากการสุ่มแบบหลายขั้นตอน (Multistage Random Sampling) จากโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย จำนวน 150 คน โรงเรียนศึกษานารี จำนวน 150 คน และจากโรงเรียนบางมดวิทยา จำนวน 150 คน

เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษาค้นคว้าครั้งนี้ เป็นแบบสอบถามข้อมูลส่วนตัว แบบสอบถามเจตคติในการคบเพื่อนต่างเพศ แบบสอบถามสัมพันธภาพระหว่างนักเรียนกับผู้ปกครอง และแบบสอบถามสัมพันธภาพระหว่างนักเรียนกับเพื่อน

สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล คือ ค่าความถี่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ค่าความเบี่ยงเบนมาตรฐาน ทดสอบค่าที (t-test) ทดสอบค่าเอฟ (F-test) หรือการวิเคราะห์ความแปรปรวนทางเดียว (One Way Analysis of Variance) การวิเคราะห์ถดถอยพหุคูณแบบเพิ่มและลดตัวแปรเป็นขั้นๆ (Stepwise Multiple Regression Analysis) และใช้การวิเคราะห์ถดถอยพหุคูณแบบนำตัวแปรเข้าทั้งหมด (Enter Multiple Regression Analysis)

ผลการศึกษา สรุปได้ดังนี้
1. นักเรียนมัธยมศึกษาเพศชายมีเจตคติในการคบเพื่อนต่างเพศสูงกว่าเพศหญิง อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05

2. นักเรียนที่ศึกษาในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1-6 มีเจตคติในการคบเพื่อนต่างเพศแตกต่างกัน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05

3. นักเรียนมัธยมศึกษาที่ศึกษาในโรงเรียนชายล้วน มีเจตคติในการคบเพื่อนต่างเพศสูงกว่า นักเรียนมัธยมศึกษาที่ศึกษาในโรงเรียนหญิงล้วนและโรงเรียนสหศึกษา และนักเรียนมัธยมศึกษาที่ศึกษาในโรงเรียน สหศึกษา มีเจตคติในการคบเพื่อนต่างเพศสูงกว่า นักเรียนมัธยมศึกษาที่ศึกษาในโรงเรียนหญิงล้วน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05

4. นักเรียนมัธยมศึกษาที่มีช่องว่างระหว่างวัยกับผู้ปกครองในระดับ มาก ปานกลาง และน้อย มีเจตคติในการคบเพื่อนต่างเพศไม่แตกต่างกัน

5. นักเรียนมัธยมศึกษาที่มีสัมพันธภาพระหว่างนักเรียนกับผู้ปกครองในระดับปานกลางมีเจตคติในการคบเพื่อนต่างเพศสูงกว่านักเรียนมัธยมศึกษาที่มีสัมพันธภาพระหว่างนักเรียนกับผู้ปกครองในระดับสูงและต่ำ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05

6. นักเรียนมัธยมศึกษาที่มีสัมพันธภาพระหว่างนักเรียนกับเพื่อนในระดับสูง ปานกลาง และต่ำ มีเจตคติในการคบเพื่อนต่างเพศไม่แตกต่างกัน

7. นักเรียนมัธยมศึกษาที่รับสื่อ วิทยุ โทรทัศน์ วีดิทัศน์ สื่อสิ่งพิมพ์ และอินเตอร์เน็ต มีเจตคติในการคบเพื่อนต่างเพศแตกต่างกัน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05

8. ปัจจัยทางชีวสังคมร่วมกันทำนายเจตคติในการคบเพื่อนต่างเพศของนักเรียนมัธยมศึกษาเพศชาย ได้ร้อยละ 37.3 อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05

9. ปัจจัยที่สามารถพยากรณ์เจตคติในการคบเพื่อนต่างเพศของนักเรียนมัธยมศึกษาเพศชาย มี 4 ปัจจัยโดยเรียงลำดับจากตัวแปรที่ส่งผลมากที่สุดไปหาน้อยที่สุด ได้แก่ ระดับชั้น สื่อโทรทัศน์ สัมพันธภาพระหว่างนักเรียนกับเพื่อน และสัมพันธภาพระหว่างนักเรียนกับผู้ปกครอง ซึ่งปัจจัยทั้ง 4 ปัจจัยนี้สามารถร่วมกันพยากรณ์เจตคติในการคบเพื่อนต่างเพศของนักเรียนมัธยมศึกษาเพศชาย ได้ร้อยละ 36.2 อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 และนำค่าสัมประสิทธิ์ของตัวพยากรณ์เขียนเป็นสมการได้ดังนี้
สมการพยากรณ์เจตคติในการคบเพื่อนต่างเพศของนักเรียนมัธยมศึกษาเพศชาย โดยใช้คะแนนดิบได้แก่
^
Y = 2.20 +.13(GR) + .26(MD4) + .23(FR) - .23(PR)

สมการพยากรณ์เจตคติในการคบเพื่อนต่างเพศของนักเรียนมัธยมศึกษาเพศชาย โดยใช้คะแนนมาตรฐาน ได้แก่
Z = .40(GR) + .22(MD4) + .24(FR) - .23(PR)

10. ปัจจัยทางชีวสังคมร่วมกันทำนายเจตคติในการคบเพื่อนต่างเพศของนักเรียนมัธยมศึกษาเพศหญิง ได้ร้อยละ 36.3 อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05

11. ปัจจัยที่สามารถพยากรณ์เจตคติในการคบเพื่อนต่างเพศของนักเรียนมัธยมศึกษาเพศหญิง มี 3 ปัจจัย โดยเรียงลำดับจากตัวแปรที่ส่งผลมากที่สุดไปหาน้อยที่สุด ได้แก่ สัมพันธภาพระหว่างนักเรียนกับผู้ปกครอง ระดับชั้น และโรงเรียนสหศึกษา ซึ่งปัจจัยทั้ง 3 ปัจจัยนี้สามารถร่วมกันพยากรณ์เจตคติในการคบเพื่อนต่างเพศของนักเรียนมัธยมศึกษาเพศหญิง ได้ร้อยละ 34 อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 และนำค่าสัมประสิทธิ์ของตัวพยากรณ์ เขียนเป็นสมการได้ดังนี้
สมการพยากรณ์เจตคติในการคบเพื่อนต่างเพศของนักเรียนมัธยมศึกษาเพศหญิง โดยใช้คะแนนดิบ ได้แก่
^
Y = 3.23 - .27(PR) +.10(GR) -.27(SC1)

สมการพยากรณ์เจตคติในการคบเพื่อนต่างเพศของนักเรียนมัธยมศึกษาเพศหญิง โดยใช้คะแนนมาตรฐาน ได้แก่
Z = -.34(PR) + .32(GR) - .25(SC1)

วันพุธที่ 14 เมษายน พ.ศ. 2553

Intro


ปัจจัยทางชีวสังคมที่มีอิทธิพลต่อเจตคติในการคบเพื่อนต่างเพศ


งานวิจัยด้านจิตวิทยา ชื่องานวิจัยคือ

"ปัจจัยทางชีวสังคมที่มีอิทธิพลต่อเจตคติในการคบเพื่อนต่างเพศ ของนักเรียนมัธยมศึกษา ในเขตกรุงเทพมหานคร"

งานวิจัยนี้เป็นงานวิจัยของนิสิตชั้นปีที่ 4 ระดับปริญญาตรี ประจำภาควิชาจิตวิทยา คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ร่วมกันวิจัยกันหกคน กลุ่มของพวกเราชื่อว่า Kasig_Group

ท่านผู้ชมท่านใดที่มีความสนใจและอยากรู้ว่าวัยรุ่นในกรุงเทพสมัยนี้มีเจตคติในการคบเพื่อนต่างเพศเป็นอย่างไรก็เชิญติดตามชมกันได้ และถ้าหากอยากอ่านรายงานวิจัยฉบับเต็ม ก็สามารถหาอ่านได้ที่สำนักหอสมุดกลางมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ และหอสมุดแห่งชาติ
อ่านรายงานวิจัยฉบับเต็ม ได้ที่สำนักหอสมุดกลางมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ และหอสมุดแห่งชาติ หมายเลข ISBN 974-9849-67-1